29 April 2005

Tiger

วันนี้แล้วสินะที่ Mac OS X 10.4 หรือที่เรียกกันว่า Tiger จะออกขายซะที ช่วงนี้เลยมีคนรีวิวมาให้อ่านเยอะเลย แต่อ่านแล้วรู้สึกละเอียดสุดๆ ก็ต้องของ ARS รีวิวกันยาวหลายหน้าเลย แต่โดยรวมๆ แล้วทุกคนก็ถูกใจกับฟีเจอร์ใหม่ๆ ของ Tiger เช่น Spotlight ซึ่งช่วยค้นหาข้อมูลทุกอย่างในระบบ ตั้งแต่ไฟล์ ไปจนถึงตารางนัดหมาย หรือ Safari 2 ที่สนับสนุน RSS แล้ว

ส่วนในเมืองไทย วันนี้กับพรุ่งนี้ MacDD มีการจัดงานเปิดตัวและแนะนำ Tiger ที่สยามดิสคัฟเวอรี่ น่าสนใจเหมือนกันนะ แต่คงไม่ได้ไปหรอก ส่วนตัวก็อยากได้ Tiger มาลองเล่นเหมือนกันนะ แต่เอาไว้ก่อนดีกว่า รอให้มันเข้าที่เข้าทางอีกซักหน่อย อีกอย่างคือมันไม่ใช่ของฟรีด้วย ต้องรอเก็บตังค์ก่อน แหะๆๆ ไม่รู้เมืองไทยจะขายซักเท่าไหร่

Browsers Usage Share

วันนี้เจอข่าวจาก ITmedia.co.jp เรื่องส่วนแบ่งของเบราเซอร์ต่างๆ IE ก็ยังคงครองความเป็นผู้นำอยู่ตามคาดด้วยส่วนแบ่ง 86.63% แต่รู้สึกว่าส่วนแบ่งของ IE จะลดลง โดยโดน Firefox จะ Mozilla ยึดไปได้เยอะพอสมควร คือกินส่วนแบ่งอยู่ที่ 8.69% นอกจากนี้ IE ยังเสียส่วนแบ่งให้กับ Safari ของ OS X ด้วย เพราะช่วงหลังๆ นี้คนคงเลิกใช้ IE บน Mac ไปเยอะ ส่วนที่เหลือก็ได้ส่วนแบ่งไปคนละประมาณ 1% ซึ่งรวม Opera ด้วย วันก่อนอ่านข่าวเจอว่ามีคนโหลด Opera 8 ไปเยอะเกินคาด จนกระทั่งประธานบริษัทต้องลงไปว่ายน้ำในมหาสมุทรแอตแลนติกตามสัญญา

โดยส่วนตัวแล้วอยากให้ส่วนแบ่ง IE ลดลงมากกว่านี้อีกซํกหน่อย คนทำเว็บเขาจะได้คิดถึงเบราเซอร์ตัวอื่นๆ บ้าง ทุกวันนี้ยังหงุดหงิดกับเว็บหลายๆ แห่ง ที่พยายามบังคับให้ใช้แต่ IE ไม่คิดถึงเบราเซอร์อื่นๆ บ้างเลย ตามความรู้สึกส่วนตัว รู้สึกว่าในเมืองไทยจะมีเว็บแบบนี้อยู่เยอะนะ เพราะตอนอยู่ญี่ปุ่นไม่ค่อยเคยเจอปัญหาเรื่องใช้เบราเชฮร์อื่นไม่ได้ แต่กลับมาเมืองไทยไม่เท่าไหร่เจอไปหลายอันแล้ว

28 April 2005

Top 10 Linux Console Applications

วันนี้เห็นข่าวเรื่องโปรแกรมยอดนิยมบนลินุกซ์ที่ใช้แบบคอมมานด์ไลน์ เลยต้องขอเขียนถึงสักหน่อย แต่ดูๆ มีโปรแกรมที่เราใช้ประจำไม่เยอะเท่าไหร่แฮะ อาจจะเป็นเพราะไม่ได้ทำงานเป็นผู้ดูแลระบบโดยตรงก็เป็นได้ ส่วนใหญ่เป็นแค่ผู้ดูแลระบบสมัครเล่น แต่ใช้ลินุกซ์สำหรับงานอื่นๆ มากกว่า โปรแกรมที่เคยใช้และติดอันดับก็มี

  1. Screen
    อันนี้เป็นโปรแกรมหลักสำหรับทำผลการทดลองต่างๆ เลย screen คือโปรแกรมจำลองเทอร์มินัลบนเทอร์มินัลอีกที หรืออาจจะเรียกว่าเป็นโปรแกรมจัดการวินโดว์บนเทอร์มินัลก็ได้ ทำให้เราสามารถรันโปรแกรมหลายๆ โปรแกรมบนเทอร์มินัลตัวเดียวกันได้ โดยจะดีกว่าการรันแบบแบคกรานด์ตรงที่ screen จะจำลองเทอร์มินัลให้เรา ทำให้สามารถเรียกดูโปรแกรมที่กำลังรันได้ โดยไม่จำเป็นต้องสั่งให้เก็บผลการทำงานลงไฟล์ เช่นแต่เดิมเราอาจจะเรียกโปรแกรมโดย
    myprogram &> output.log &
    tail -f output.log (เรียกดูผลที่เก็บไว้ในไฟล์)
    
    จะสามารถเปลี่ยนไปใช้แค่ว่า
    screen myprogram
    
    จากนั้นก็กด Ctrl-A-D เพื่อให้กลับมายัง command prompt เดิม เวลาจะเรียกดูการทำงาน ก็ใช้
    screen -r
    
    นอกจากนี้ถ้าต้องการให้เก็บผลการทำงานไว้ในไฟล์โดยอัตโนมัติ ก็แค่ไปสร้างไฟล์ .screenrc ไว้ใน home แล้วเขียนในไฟล์นั้นว่า
    deflog on
    
    จะทำให้ screen สร้างไฟล์ screenlog.0 เพื่อเก็บผลการทำงานให้ทุกครั้ง
  2. Pine
    โปรแกรมสำหรับอ่านเมลบนคอนโซล ใช้บ่อยมากสมัยเรียนอยู่จุฬาฯ ซึ่งโปรแกรมอ่านเมลแบบที่ใช้ POP3 ยังไม่เป็นที่นิยมเหมือนทุกวันนี้ ตอนนี้ไม่ได้ใช้แล้ว เปลี่ยนมาใช้ Mail บน OS X กับ Thunderbird อ่านแทน เนื่องจากมีคุณสมบัติต่างๆ ดีกว่า รวมถึงพวกภาษาไทย และจัดการแยกเมลขยะให้อัตโนมัติด้วย
  3. Lynx
    โปรแกรมเบราเซอร์บนคอนโซล โปรแกรมนี้ก็ใช้บ่อยเหมือนกันตอนอยู่จุฬาฯ เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยได้ใช้บ่อยนัก แต่จะได้ใช้เสมอ เวลาติดตั้ง Gentoo Linux เนื่องจากช่วงแรกยังต้องรอคอมไพล์ xorg-x11 ให้เสร็จก่อน ระหว่างนั้น ถ้าต้องการค้นหาข้อมูลมาใช้กำหนดค่าต่างๆ ก็ต้องพึ่ง lynx เป็นหลัก
  4. MySQL
    โปรแกรมจัดการฐานข้อมูลยอดนิยม ซึ่งได้ใช้เสมอๆ โดยเวลาต้องการทำเว็บเก็บข้อมูล หรือรับลงทะเบียนต่างๆ แหะๆ เนื่องจากขี้เกียจเขียนฟังก์ชันจัดการข้อมูลเอง ใช้ MySQL ไปเลยก็ง่ายดี แถมเร็วด้วย ที่จริงในแง่ของระบบจัดการฐานข้อมูลแล้ว MySQL ยังมีข้อจำกัดอยู่เยอะ แต่ถ้าทำงานง่ายๆ ก็ไม่ค่อยได้ใช้หรอก ถ้าต้องการความสามารถแปลกๆ ก็อาจจะเปลี่ยนไปใช้ PostgreSQL แทนได้ (แต่เคยได้อ่านที่ไหนว่า ประสิทธิภาพในแง่ความเร็ว จะสู้ MySQL ไม่ได้)

ที่ติดอันดับมีแค่นี้แหละ นอกนั้นขอพูดถึงโปรแกรมยอดนิยมส่วนตัว ที่ไม่ติดอันดับบ้าง

  1. Vim
    โปรแกรมบรรณาธิกรณ์หลักที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ จำได้ว่าครั้งแรกอ.ญาใจซึ่งสอนภาษาซีตอนปีหนึ่งแนะนำให้ใช้ ความรู้สึกแรกคือทำไมมันใช้ยากอย่างนี้(วะ) เช่น มีแบ่งเป็นโหมดด้วย ว่าจะสั่งงาน หรือจะพิมพ์ข้อความ แถมคำสั่งต่างๆ ก็ต้องจำหมด ไม่สะดวกเอาซะเลย จำได้ว่าตอนนั้นไม่ได้ใช้หรอกใช้ pico แทน มาเริ่มใช้งาน vi จริงๆ จังๆ ก็ตอนไปอยู่ญี่ปุ่นมั้ง หลังจากเริ่มเบื่อ Mule ซึ่งอืดมากๆ สำหรับเครื่องในยุคนั้น พอเริ่มใช้งาน เริ่มคุ้นและจำคำสั่งต่างๆ ได้ ก็จะรู้สึกว่า vi สะดวกมาก ยิ่งเป็น vim ด้วย จะมีคำสั่งเพิ่มเติมหลายๆ อย่าง ทำให้สามารถเขียนโปรแกรมหรือพิมพ์งานต่างๆ ได้เร็วกว่าโปรแกรมบรรณาธิกรณ์อื่นๆ เยอะ ไม่จำเป็นต้องยกมือไปจับเมาส์ด้วย ตัวอย่างเช่น ถ้าจะค้นหาข้อความ ก็แค่กด escape แล้วก็กด / ตามด้วยข้อความแค่นั้นเอง จะแทรกบรรทัดใหม่ไปอยู่ที่บรรทัดก่อนตำแหน่งที่จะแทรก กด o แล้วเริ่มพิมพ์ได้เลย ไม่จำเป็นต้องกด end ไปท้ายบรรทัดก่อน แล้วตามด้วย enter แถมเวลาเขียนโปรแกรมก็มีระบบจัดย่อหน้าให้พร้อม
  2. Awk
    โปรแกรมสำหรับจัดการและแก้ไขข้อมูลในไฟล์ข้อความ เวลามีไฟล์ซึ่งเก็บข้อมูลในลักษณะที่หนึ่งบรรทัดเท่ากับหนึ่งเรคคอร์ด และแต่ละเรคคอร์ดมีข้อมูลหลายๆ อย่าง คั่นด้วยตัวอักษรอะไรสักอย่าง เช่น , หรือ : แล้วเกิดอยากได้ข้อมูลบางตัว อยากตัดบางตัวออก หรืออยากหาผลการคำนวณบางอย่าง จะทำงานได้เร็วมาก ถ้าใช้ awk เพราะเขาออกแบบมาเพื่องานแบบนี้โดยเฉพาะ ไม่จำเป็นต้องไปเสียเวลาเขียน perl ซึ่งอาจจะไม่ช้ามาก แต่ก็ไม่น่าจะเร็วกว่า awk ยิ่งถ้าใช้ C ด้วย ไม่มีทางสู้ awk ได้เลย เพราะกว่าจะเขียนโปรแกรมเสร็จก็แย่แล้ว เช่น ถ้ามีข้อมูลว่า
    0001:12:23
    0002:13:45
    0003:15:78
    0004:22:90
    
    แล้วต้องการหาผลรวมของแต่ละเรคคอร์ด ก็จะใช้ awk ว่า
    awk 'BEGIN {FS=":"}; { sum = $2 + $3; print $1":"sum }'
    
    โดย BEGIN {}; เป็นส่วนสำหรับกำหนดค่า หรือสั่งงานก่อนเริ่มอ่านไฟล์ โดยมีการกำหนดให้แบ่งฟิลด์ด้วยเครื่องหมาย : ส่วน {} ถ้ดมาจะถูกเรียกทำงานเรคคอร์ดละครั้ง ซึ่งจะกำหนดให้หาผลรวมระหว่างฟิลด์ที่สองกับฟิลด์ที่สาม แล้วก็พิมพ์ค่าฟิลด์ที่หนึ่งกับผลรวม
  3. Find
    โปรแกรมนี้ก็ใช้บ่อยเหมือนกัน เวลาหาไฟล์ไม่เจอ ที่จริงคำสั่งนี้ยืดหยุ่นมาก สามารถค้นหาไฟล์โดยกำหนดเงื่อนไขได้หลายรูปแบบมากๆ ไม่ได้จำกัดเฉพาะชื่อไฟล์เท่านั้น สามารถหาไฟล์โดยกำหนดขนาด กำหนดวันที่เปลี่ยนแปลงหลังสุดก็ได้ แถมสร้างเป็นลิสต์ของไฟล์ที่ต้องการส่งต่อไปให้คำสั่งอื่นๆ ได้อีก เคยใช้ find สำหรับแบคอัพข้อมูลเหมือนกัน โดยใช้สร้างลิสต์ของไฟล์ที่มีการเปลี่ยนแปลงใหม่กว่าไฟล์ที่กำหนด เพื่อจะได้เลือกเฉพาะไฟล์นั้นไปเก็บไว้ เป็นการแบคอัพเฉพาะส่วนที่เปลี่ยนแปลง ใช้ง่ายดีเหมือนกันนะ
  4. Tail
    โปรแกรมนี้ใช้บ่อยเหมือนกัน เวลาต้องการแก้ปัญหาต่างๆ ให้เครื่อง เพราะเวลาดู log ถ้าใช้ less ก็จะเสียเวลาเลื่อนไปบรรทัดท้ายๆ เนื่องจากไฟล์จะยาวมากๆ การใช้ tail จะช่วยแสดงส่วนท้ายๆ ของไฟล์ได้ง่ายกว่า

ที่ใช้บ่อยๆ ก็มีแค่นี้ล่ะมั้ง ไว้นึกออกแล้วจะมาเขียนต่อ

25 April 2005

Bioinformatics

ช่วงนี้เริ่มหันมาทำวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ Bioinformatics เลยขอจดชื่องานประชุมวิชาการไว้หน่อย เผื่อมีโอกาสส่งงานไปตีพิมพ์กับเขาบ้าง

20 April 2005

TOTOnline

วันนี้เพิ่งย้ายมาอยู่หอพักใหม่เป็นวันแรก ข้าวของ เครื่องใช้ อะไรก็ยังไม่มี มีแค่พอแก่การดำรงชีวิต กับ Powerbook อีกหนึ่งเครื่อง แต่ยังดีที่เขามีโทรศัพท์ให้ใช้ ก่อนกลับบ้านเลยลองหาเกี่ยวกับ TOTOnline ไว้หน่อย เพราะไม่รู้จะไปซื้อชั่วโมงอินเตอร์เน็ตของไอเอสพีที่ไหน ตอนแรกอ่านดูเหมือนจะต้อง signup ก่อน แต่เอาเข้าจริงไม่ต้องทำอะไรเลย แค่โทร 1222 แล้วก็ใช้ totonline@totonline.net กับ totonline แค่นั้นเอง ก็ใช้ดีนะ ไม่เร็วมาก แต่ก็ไม่ช้าจนเกินไป ต่อไปค่อยหาเรื่องใช้ ADSL แต่ไม่รู้ว่าเขาจะยอมให้ติดตั้งหรือเปล่า แถมผ่าน PABX ด้วย

Dragonfly BSD

เจอข่าว Dragonfly BSD ออกรุ่น 1.2 เลยเข้าไปอ่านซะหน่อย ว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง Dragonfly BSD พัฒนามาจาก FreeBSD รุ่น 4.x โดยเน้นที่ประสิทธิภาพการทำงาน เช่น มีระบบ Thread แบบ Light weight ใช้ระบบ I/O แบบใหม่ อ่านแล้วอยากรู้เหมือนกันว่าเมื่อเทียบกับ FreeBSD 5.x และ Linux แล้วต่างกันแค่ไหน ลองหาดู ก็เจอการทดสอบที่มีคนลองทำไว้ ยังไม่ได้อ่านรายละเอียด ขอเอามาเก็บไว้ก่อน แต่ดูท่าทางจะเร็วกว่า FreeBSD 5.x พอสมควร

13 April 2005

ปลดล็อค

หลังจากไปซื้อโทรศัพท์มือถือมาใหม่ ด้วยความที่ค่าโทรค่อนข้างถูกกว่าเดิมมาก ทำให้น้องอยากซื้อเบอร์ใหม่ไว้ใช้เวลาที่ต้องการโทรเยอะๆ เป็นการประหยัดค่าโทรศัพท์ เลยจะให้ไปซื้อเฉพาะซิมมาใช้กับเครื่องเก่า (เดี๋ยวเขาขายราคา 199 บาทเองแฮะ) พอไปถามคนขายเลยทำให้ได้ความรู้ใหม่ว่า ต้องไปปลดล็อคอีมี่ (IMEI) ก่อน ถึงจะใช้กับเครื่องเก่าได้ เพราะเครื่องเก่าซื้อมานานหลายปีก่อนเขาจะเปิดเสรีอย่างทุกวันนี้ ทำให้บริษัทผู้ให้บริการล็อคเครื่องไว้ ให้ใช้ได้เฉพาะกับบริการของตนเท่านั้น พอลองไปถามตามร้านดู เขาก็บอกว่าทำได้ คิดค่าทำหนึ่งร้อยบาท พอดีไม่ได้เอาเครื่องไป ก็เลยกะว่าไว้ค่อยไปใหม่ พอกลับมาบ้าน ลองนั่งอ่านเว็บเล่นๆ ดู ทำให้รู้ว่าวิธีปลดล็อคของโทรศัพท์ของโนเกีย เพียงแค่ใส่รหัสที่ถูกต้องลงไป ก็จะปลดล็อคได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์พิเศษ แต่ว่ารหัสที่จะใส่ลงไปนั้น ต้องคำนวณมาจากค่าอีมี่ มีคนทำโปรแกรมสำหรับคำนวณแจกไว้เสร็จสรรพ พอไปดาวน์โหลดมา หาอีมี่ใส่ลงไป (ดูได้ด้วย *#06#) ได้ค่าออกมา ก็เอาซิมออกแล้วก็ใส่ค่านั้นลงไป ก็จะมีข้อความขึ้นมาว่า ได้ปลดข้อจำกัดไปแล้วเป็นอันเสร็จสิ้น สรุปว่าร้านนั้นเสียรายได้ไปหนึ่งร้อยบาท ส่วนยี่ห้ออื่นดูเหมือนว่าจะต้องใช้อุปกรณ์เพิ่ม คงต้องไปให้ที่ร้านเขาทำให้

12 April 2005

กลับบ้าน

กลับมาอยู่บ้านได้ประมาณ 2 สัปดาห์แล้ว ช่วงนี้เลยไม่ค่อยได้เขียนอะไร เพราะมัวแต่เที่ยว(หาของ)กินอยู่ วันนี้ทุกอย่างเริ่มเข้าที่เข้าทาง เลยได้ฤกษ์กลับมาเขียนอีกครั้ง ตอนแรกคิดว่าจะว่างไปอีกสัก 1 เดือน แต่เมื่อวานได้รับโทรศัพท์ ตกลงว่าวันจันทร์หน้าจะต้องเริ่มทำงานแล้ว แต่ว่ายังเป็นตำแหน่งชั่วคราวก่อน จะเริ่มงานในตำแหน่งประจำจริงๆ อีกครั้งเดือนหน้า สรุปว่าไม่ค่อยได้พักเท่าไหร่ วันนี้เลยเพิ่งไปซื้อโทรศัพท์มือถือมา พอไปกรอกในเอกสารว่าว่างงาน ไม่มีรายได้ พนักงานก็ถามว่าพี่ไม่มีรายได้เลยเหรอ อ้าว...ก็ไม่มีงานทำ จะมีรายได้ได้ยังไง เขาก็ยังถามอีกว่าไม่ใส่ไปหน่อยเหรอ เราก็บอกว่าไม่ต้องหรอก ก็ไม่มีนี่นา ฟังแล้วตลกดี ทำไมต้องพยายามให้เรามีรายได้ด้วย

ไหนๆ ก็เขียนแล้ว ขอพูดถึงข่าว Ubuntu เพราะเมื่อสองวันก่อนออกรุ่น 5.04 เรียบร้อยแล้ว ใช้ Bittorrent โหลดซีดีอิมเมจมาเรียบร้อย ติดตั้งใช้งานได้ดีเหมือนเดิม ถึงแม้ว่าตอนนี้จะใช้ ADSL ของบริษัททศท. แต่ก็เสียเวลาโหลดเยอะเหมือนกัน แหะๆๆ สมัยอยู่ญี่ปุ่นโหลดซีดีหนึ่งแผ่น ใช้เวลาประมาณ 10 นาทีเอง มาอยู่เมืองไทยแล้ว ใช้เวลาเกือบหนึ่งวันได้มั้ง แต่ก็ยังดีกว่าใช้โมเด็มเยอะ เพราะไม่จำกัดเวลาใช้งาน