29 March 2005

Mozilla Firefox บน Ubuntu

เมื่อวานกลับมาใช้ Ubuntu อีกครั้ง แล้วเพิ่งจะสังเกตเห็นว่า Mozilla Firefox ที่มากับ Ubuntu แสดงภาษาไทยแล้ววรรณยุกต์ไม่ลอย สามารถจัดระดับวรรณยุกต์ได้ถูกต้อง เลยลองไปเอาซอร์สของ Mozilla Firefox ที่ Ubuntu ใช้มาดู เลยรู้ว่าไม่ได้ใช้ซอร์สแบบปกติ แต่มีการเพิ่มเติมเพื่อให้ใช้ pango ในการแสดงตัวอักษร ซึ่งทำให้แสดงผลภาษาพิเศษต่างๆ ได้ถูกต้องมากยิ่งขึ้น (ลองอ่านในเว็บต่างๆ คร่าวๆ ดูเหมือนว่าจะเอามาจาก Fedora Core อีกที) พอรู้ว่าใช้ pango ก็เกิดความคิดว่าถ้าเราเอา pango-libthai ที่พี่เทพทำไว้มาใช้ ก็อาจจะทำให้ตัดคำได้ โดยไม่จำเป็นต้องไปคอมไพล์ใหม่ เพราะ pango จะเรียกใช้โมดูลการแสดงผลที่กำหนดไว้ใน /etc/pango/pango.modules ให้ทันที แต่สิ่งต่างๆ ในโลกนี้มักจะไม่ง่ายอย่างที่คิด เอา pango-libthai มาลงแล้ว มันก็ยังไม่ตัดคำให้เหมือนเดิม ทั้งที่ลอง gedit ก็ทำงานอย่างดี แถมลอง strace ดูการทำงานของ Firefox ก็เห็นว่ามีการเรียกใช้โมดูลตามที่ต้องการ สุดท้ายเลยลองไปดูซอร์สส่วนที่ใช้ pango ดูเหมือนว่าเขาจะตัดข้อความมาเป็นชิ้นๆ ก่อน แล้วค่อยส่งให้ pango จัดการวาดตัวอักษร เลยทำให้ไม่ได้ใช้ความสามารถของ pango ในการตัดบรรทัด พอรู้อย่างนี้ก็เริ่มหมดความสามารถแก้ต่อ ไว้กลับเมืองไทยว่างๆ แล้วค่อยลองดูอีกทีล่ะกัน (แต่เอามาบันทึกไว้ก่อน)

28 March 2005

Gentoo 2005.0

หลังจากรอมาหลายอาทิตย์ ในที่สุด Gentoo ก็เปิดตัวเวอร์ชันแรกของปีนี้ซึ่งก็คือ 2005.0 ยังไม่เห็น release note เหมือนกัน แต่คิดว่าคงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมาก เป็นการออกรุ่นใหม่ตามปกติ โดยปกติแล้วจะไม่ค่อยตื่นเต้นกับการออกรุ่นใหม่ของ Gentoo มากนัก เพราะคนที่ใช้อยู่ถ้าอัพเดตแพคเกจต่างๆ ก็จะเปลี่ยนไปใช้รุ่นปัจจุบันโดยอัตโนมัติ คือไม่ว่าจะติดตั้งจากรุ่นไหน ถ้าขยันอัพเดตก็จะได้ใช้รุ่นใหม่ล่าสุดเสมอ คนที่จะได้ผลประโยชน์ที่สุด ก็คือคนที่คิดจะติดตั้ง Gentoo ใหม่ เพราะจะสามารถใช้แพคเกจแบบไบนารีรุ่นใหม่ ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาคอมไพล์ใหม่ทั้งหมด คราวนี้ที่รอรุ่นใหม่ก็เพราะจะกลับเมืองไทยแล้ว เลยอยากโหลดแพคเกจซีดีของรุ่นใหม่เก็บไว้ก่อน เวลาไปจัดการเครื่องใหม่ จะได้ไม่ต้องเสียเวลาคอมไพล์กันเป็นวันๆ เหมือนที่ทำทุกที

24 March 2005

รำลึกความหลัง (3)

หลังจากนั้นไม่นานก็ได้ไปเจออาจารย์ เจอครั้งแรกก็ดูท่าทางแกเป็นคนใจดี เห็นยิ้มตลอดเวลา ที่จริงแกก็เป็นคนใจดีแหละ คือไม่จู้จี้จุกจิกในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างที่อาจารย์บางคนเป็น เช่นกำหนดเวลาว่าต้องมีแล็บกี่โมง กลับกี่โมงอะไรทำนองนั้น อาจารย์แกไม่สนใจเรื่องพวกนี้เลย ขอแค่มาแล็บ แล้วก็ทำงานในส่วนของตัวเองให้ดีพอก็ใช้ได้แล้ว แต่จะว่าแกใจดีเกินไปก็ไม่ถูก เพราะมีเวลาโหดเหมือนกัน หุๆๆ วันนั้นอาจารย์แกก็พาไปดูห้องแล็บ ซึ่งมีห้องเล็กๆ อยู่สามห้อง ห้องแรกเป็นห้องของนักเรียนปริญญาเอก ซึ่งมีกันอยู่สองคน ห้องที่สองเป็นห้องของนักเรียนปริญญาโท ซึ่งมีอยู่สี่คน (ปีหนึ่ง สองคน, ปีสอง ที่กำลังจะจบอีกสองคน) ห้องที่สามเป็นห้องรวมมีนักเรียนปีสี่อยู่สี่คน แล้วก็มีเครื่องตั้งเรียงรายไว้ สมัยนั้นแล็บยังนิยมใช้ยูนิกซ์ คอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่จึงมักจะเป็นเครื่องของซัน เครื่องที่เป็นพีซีก็จะลง FreeBSD ไว้ ทั้งแล็บมี Windows ให้ใช้เครื่องเดียวสำหรับเวลาจำเป็นเท่านั้น ตอนนั้นตัวเองยังนิยม Windows อยู่ แต่ก็ไม่ได้รู้สึกอะไรมาก เพราะตั้งแต่เรียนปีสองมา ก็ใช้ SunOS มาเป็นส่วนใหญ่ ทำให้พอใช้เป็นบ้าง แต่ว่าก็ต้องมันศึกษาเพิ่มเติมเยอะเหมือนกัน เพราะตอนอยู่จุฬาฯ ใช้ยูนิกซ์สำหรับเขียนโปรแกรม ส่งเมล์ แล้วก็เล่นเว็บเท่านั้น แต่ที่นี่ต้องใช้ยูนิกซ์ทำทุกอย่าง ทำให้ต้องศึกษาเองพอสมควร ทำไปทำมาเลยกลายเป็นหลงรักยูนิกซ์ไปซะแล้ว แต่อย่างไรก็ดี หน้าที่ที่สำคัญที่สุดในตอนนั้น ก็คือการเรียนภาษาญี่ปุ่น อาจารย์บอกไว้ก่อนเลยว่า หกเดือนแรกนี้ยังไม่ต้องทำอะไรหรอก ให้ตั้งใจเรียนภาษาญี่ปุ่นให้เต็มที่ก็พอแล้ว แต่ก็ไม่วายทิ้งท้ายว่า ถ้ามีเวลาว่างก็อ่านหนังสือเกี่ยวกับ AI ไว้หน่อยล่ะกันนะ

พูดถึงการเรียนภาษาญี่ปุ่น เนื่องจากเราได้ทุนผ่านทางสถานทูต จึงมีคอร์สเรียนภาษาญี่ปุ่น 6 เดือนโดยอัตโนมัติ เรียกว่าคอร์ส intensive คือเรียนทุกวันตั้งแต่เก้าโมงเช้า ถึงบ่ายสามโมง เหมือนเด็กนักเรียนประถม คอร์ส intensive ที่ว่านี้ถือเป็นสิทธิพิเศษของนักเรียนที่ได้ทุนผ่านสถานทูต เพราะคนที่ได้ทุนจากมหาวิทยาลัยโดยตรงจะไม่ได้เรียนคอร์สนี้ แต่จะสามารถเรียนคอร์สภาษาญี่ปุ่นต่างๆ ที่เปิดสอนได้ โดยจะเรียนน้อยกว่ามาก แค่สัปดาห์ละสองครั้ง ครั้งละชั่วโมงครึ่งเท่านั้น และในบรรดาคนไทยที่มารอบนี้ทั้งหมด 5 คน ปรากฏว่ามีเราคนเดียวที่จะได้เรียน ตอนแรกก็คิดว่าน่าจะเหงาเหมือนกันนะ แต่ทำไปทำมาพี่ต่อกับพี่ลัดดาก็สามารถขออาจารย์มาเรียนคอร์สเดียวกับเราได้ (โดยแล็บจ่ายเงินค่าเรียนให้) ส่วนอีกสองคนคือ พี่กระแต อาจารย์ไม่สนับสนุนให้เรียนภาษาญี่ปุ่นเท่าไหร่นัก โดยให้เหตุผลว่าใช้ภาษาอังกฤษก็พอแล้ว ส่วนพี่ชัยต้องเข้าเรียนปริญญาโทคอร์สภาษาอังกฤษเลย ทำให้ไม่สามารถมาเรียนภาษาญี่ปุ่นเต็มเวลาได้

คอร์สภาษาญี่ปุ่นเหล่านี้จัดสอนโดยศูนย์นักเรียนต่างชาติ โดยอาจารย์ส่วนใหญ่จะเป็นอาจารย์พิเศษซึ่งทำงานพาร์ทไทม์ มีอาจารย์ประจำอยู่ไม่กี่คน หรือถ้าจะพูดให้เจาะจงอาจารย์พิเศษที่มาสอนภาษาญี่ปุ่นนั้น ก็คือแม่บ้านชาวญี่ปุ่นซึ่งจะมาสอนภาษาสัปดาห์ละประมาณสองหรือสามวัน แต่ก็ไม่ใช่ว่าแม่บ้านทั่วๆ ไป จะมาสอนได้ทุกคน เพราะคนที่จะมาสอนภาษาญี่ปุ่นได้ จะต้องมีใบประกาศนียบัตรซึ่งต้องไปเรียน แล้วสอบผ่านมาก่อน คอร์ส intensive คราวที่เราเรียนนั้น เขาแบ่งออกเป็นสองห้อง คือห้อง A สำหรับคนที่ยังไม่เคยเรียนมาก่อน กับห้อง B สำหรับคนที่เรียนมาบ้างแล้ว เราก็ได้อยู่ห้อง A ตามคาด ในห้องมีนักเรียน 12 คน มาจากประเทศต่างๆ กัน ทั้งเม็กซิโก ชิลี จีน อียิปต์ ฝรั่งเศส โครเอเชีย ฟิลิปปินส์ บราซิล พม่า และเป็นไทยสามคน ชาวไทยเลยกลายเป็นมหาอำนาจในห้องเรียน หุๆๆ

การเรียนนั้นอาจารย์จะสอนโดยพยายามไม่พูดภาษาอื่นเลย นอกจากภาษาญี่ปุ่น ท่าทาง และรูปภาพ เวลานักเรียนไม่เข้าใจอะไรซักอย่าง อาจารย์แกก็จะพยายามทำท่าทำทาง เพื่ออธิบายความหมายของศัพท์ที่พูดถึงจนกระทั่งเราเข้าใจได้ จะไม่แปลศัพท์นั้นเป็นภาษาอังกฤษเพื่ออธิบายความหมาย เมื่อผ่านการเรียนแบบนี้ เรารู้สึกทึ่งกับวิธีการสอนภาษาแบบนี้มาก เพราะโดยส่วนตัวเชื่อว่าไม่มีคำในภาษาๆ หนึ่งซึ่งจะมีความหมายเหมือนกับคำอีกคำหนึ่งในอีกภาษาหนึ่ง อย่างมากก็แค่มีความหมายใกล้เคียง หรือสามารถใช้สื่อความหมายเดียวกันได้ในบางกรณี การเรียนภาษาหนึ่งโดยเทียบความหมายกับอีกภาษาหนึ่ง อาจจะทำให้เราไม่สามารถใช้คำในภาษาใหม่ได้ตรงกับความหมายที่แท้จริงของคำนั้นได้ นอกจากนี้ใช่ว่าทุกคนจะรู้ภาษากลางเท่าเทียมกัน ตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายที่สุด ก็คือเพื่อนคนพม่า แกพูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยได้ ทำให้ตอนแรกคุยกันไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าไหร่ จนกระทั่งปลายๆ คอร์สจึงคุยกันด้วยภาษาญี่ปุ่น ซึ่งเริ่มเรียนมาพร้อมๆ กัน ทำให้เข้าใจกันได้ง่ายกว่าใช้ภาษาอังกฤษ

ป.ล. ช่วงนี้คงเขียนข้ามๆ ตามที่นึกออก เพราะรู้สึกว่าความจำไม่ค่อยอยู่กับร่องกับรอยเท่าไรนัก

wgetpro

ช่วงนี้ดูทีวีญี่ปุ่นลำบากเพราะว่ายกโทรทัศน์ พร้อมกับเครื่องใช้ไฟฟ้าให้คนอื่นไปหมดแล้ว เลยต้องหันมาดูทีวีไทยจากอินเตอร์เน็ตแทน แต่จะกดดูตรงๆ บางครั้งก็ค่อนข้างช้า ติดๆ ขัดๆ เลยพยายามหาทางโหลดมาเก็บไว้ในเครื่องตัวเองก่อน แล้วค่อยดูอีกที แต่เนื่องจากเว็บส่วนใหญ่นิยมใช้ mms ทำให้ไม่สามารถใช้โปรแกรมดาวน์โหลดที่ชอบใช้ เช่น wget หรือ curl ได้ (ถ้าเป็นบน Windows เห็นนิยมใช้ flashget กันนะ) ตอนแรกก็ใช้ mencoder ซึ่งมากับ mplayer โหลด แต่มีปัญหาว่าไฟล์ที่ได้มันจะถูกแปลงไปเป็น .avi ที่ใช้ codec พิเศษ ทำให้ต้องใช้ mplayer เท่านั้นจึงจะดูได้ วันก่อนเลยลองหาใหม่ เจอ wgetpro ซึ่งเอาซอร์สของ wget มาเพิ่มส่วนจัดการโปรโตคอล mms ทำให้สามารถโหลดคลิปต่างๆ ได้เรียบร้อย ดูเหมือนว่าที่แยกออกมาจาก wget เพราะมีปัญหาเรื่องสิทธิบัตรซอฟท์แวร์ ทำให้ใช้ในประเทศบางประเทศไม่ได้ ส่วนวิธีใช้ก็ง่ายมาก หลังจากคอมไพล์และติดตั้งตามปรกติแล้ว ก็แค่

$ wpro mms://......

22 March 2005

รำลึกความหลัง (2)

จะเขียนต่อมาตั้งหลายวันแล้ว แต่ช่วงนี้งานราษฎร์งานหลวงพัวพันเยอะเหลือเกิน เพราะกำลังอยู่ในระหว่างปิดงบ ต้องรีบใช้งบวิจัยต่างๆ ให้หมดโดยเร็ว ทำให้ต้องวุ่นวายกับการติดต่อโน้นนี่เต็มไปหมด แถมตัวเองจะกลับเมืองไทยด้วยก็ต้องเตรียมส่งของกลับเมืองไทย แล้วก็รื้อบ้านเก็บบ้านให้เรียบร้อยก่อนวันกลับ วันนี้เพิ่งจะได้มีเวลาหายใจเล็กน้อย เลยขอมาเขียนทิ้งไว้หน่อยก่อนล่ะกัน

หลังจากพี่ตี๋พาขึ้นรถไฟมามหาวิทยาลัย ก็ทำให้รู้ว่าหอที่พักอยู่ห่างจากมหาวิทยาลัยมาก (มิน่านั่งแท็กซี่ตั้งนานกว่าจะถึง) โดยแคมปัสตั้งอยู่ในเขตจังหวัดโตเกียว ในขณะที่หอพักตั้งอยู่ในเมืองโยโกฮะมะ จังหวัดคะนะกะวะ เลยต้องเดินทางด้วยรถไฟประมาณ 40 นาที สมัยนั้นเมืองไทยยังไม่มีรถไฟฟ้าบีทีเอส ทำให้รู้สึกว่าการเดินทางด้วยรถไฟนี่ก็สะดวกสบายดี และบริษัทรถไฟของญี่ปุ่นจะประกาศตารางเวลาที่แน่นอนไว้ และรถไฟจะมาตรงเวลาเสมอ จำได้ว่าพี่ตี๋แกสอนอ่านตารางรถไฟด้วย พอไปถึงแคมปัสซึ่งอยู่ติดสถานีโอโอะกะยะมะ เรียกว่าเดินออกจากสถานีปุ๊บก็เห็นประตูทางเข้าเลย ตัวแคมปัสเล็กกว่าที่คิดไว้เยอะเลย แต่ก็ไม่ได้แคบจนเกินไปนัก พี่ตี๋พาเราเดินไปดูตึกต่างๆ แล้วก็ไปเจอกลุ่มคนไทยที่ตึก S3 ซึ่งเป็นตึกของภาคไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ในสมัยนั้น ได้เจอคนไทยเยอะๆ ก็รู้สึกอบอุ่นดี ทำให้รู้ว่าที่นี่มีคนไทยอยู่เยอะมาก ประมาณ 40-50 คน แถมคนไทยยังมีนิสัยชอบเดินไปเดินมา (อันนี้คิดเอาเอง) เพราะเวลาออกจากแล็บมา มักจะเจอนักเรียนไทยอย่างน้อย 2-3 คนเสมอ หลังจากทักทายกันเป็นที่เรียบร้อยจนเริ่มเย็น พี่ตี๋ก็พาไปฝั่งมิโดริกะโอกะ เพื่อไปสบทบกับคนที่เพิ่งมาใหม่วันนี้เหมือนกัน ทำให้เจอพี่ชัยซึ่งหายตัวไปตั้งแต่เช้า แล้วก็เจอพี่ต่อซึ่งเป็นเพื่อนพี่ตี๋มาเรียนปริญญาเอกทางโยธาเหมือนกัน แล้วพี่ๆ แกก็พาไปกินข้าวที่จิยูกะโอกะ (วันนั้นจำชื่อไม่ได้หรอก รู้สึกแค่ว่าทำไมมันซ้ำๆ กันอย่างนี้ มีแต่กะโอกะ แล้วจะจำได้ไหมเนี้ย) วันนั้นไปกินสปาเก็ตตี้ที่ร้านคะปิโจซะ จำได้แค่ว่าบรรยากาศก็ดี แถมรสชาติก็ดีกว่าอาหารญี่ปุ่นเยอะเลย ร้านนี้เป็นที่พึ่งให้เราอีกนาน จนก่อนย้ายมาโอซาก้าถึงจะปิดตัวเองไปเนื่องด้วยสภาพเศรษฐกิจ นอกจากนี้ในวันนั้นยังได้รู้ว่าเราเป็นคนไทยที่มาใหม่คนเดียวที่ต้องอยู่หอโชฟู ส่วนคนอื่นๆ เขาอยู่ที่หออุเมะกะโอะกะ ซึ่งอยู่สถานีถัดไป 1 สถานีจากสถานีของหอเรา สถานีนั้นชื่อฟุจิกะโอะกะ ฟังแล้วเริ่มคิดว่ากะโอะกะเนี้ยมันต้องเกี่ยวข้องกับสถานที่อะไรแน่เลย ทำไมต้องเอามาต่อท้ายตลอดเลยเนี้ย

หลังจากกินข้าวเสร็จ กลับมาที่ห้องคนเดียว ความเหงาก็เริ่มบังเกิด ตอนแรกไม่เหงาเพราะมัวแต่ตื่นเต้นกับถนนหนทาง แล้วก็มีคนคุยด้วยตลอดเวลา เริ่มคิดว่าทำไมเราต้องจากบ้านจากเมืองมาไกลขนาดนี้ด้วยนี่ แล้วเราจะดำรงชีวิตได้ไหม ในขณะที่เราไม่รู้ภาษาอะไร แถมคนญี่ปุ่นก็พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ด้วย แต่ความเหนื่อยล้าจากการเดินทาง ก็ทำให้เราหลับไปอย่างง่ายดาย โดยไม่คิดอะไรมาก หลังจากนั้นเริ่มจำรายละเอียดไม่ค่อยได้แล้วล่ะ ว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง รู้แต่ว่าพอถึงวันที่คุณเนกิขินัด ไว้ ก็มีติวเตอร์ของหอซึ่งเป็นนักเรียนปริญญาเอกชาวโคลัมเบียพาไปทำบัตรคนต่างชาติ พร้อมกับทำประกันสุขภาพ ที่ที่ว่าการเขตอะโอบะ ซึ่งอยู่ที่สถานีอิชิกะโอะ เสร็จแล้วตอนบ่ายก็ไปที่ศูนย์นักเรียนต่างชาติของมหาวิทยาลัย มีปฐมนิเทศเล็กน้อย ก่อนที่จะมีติวเตอร์อีกกลุ่มหนึ่งพาไปเปิดบัญชีธนาคาร ที่หน้ามหาวิทยาลัยไว้สำหรับโอนทุนมาให้ทุกเดือน ตอนเช้าที่ไปทำบัตรก็เดินคุยกับติวเตอร์ไปหน่อย ทำให้รู้ว่าเขาเรียนอยู่แล็บเดียวกับเรา แล้วเขาก็บอกว่าถ้าว่างเมื่อไหร่ก็ให้เข้าไปที่แล็บได้เลยอาจารย์รออยู่ แต่วันนั้นจำไม่ได้ว่ามีอะไร แต่ไม่ได้ไปที่แล็บแต่กลับหอเลย ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เราต้องขึ้นรถไฟคนเดียว จำได้ว่าเล็งทุกสถานีเลย เพราะถึงแม้ว่าจะมีประกาศชื่อสถานีต่อไปบนรถ แต่ด้วยเสียงอันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของบรรดาผู้ประกาศทั้งหลาย ทำให้เราไม่สามารถฟังแยกเฉพาะชื่อสถานีได้ เลยต้องเล็งกันทุกครั้งที่รถไฟจอด ดีหน่อยที่เขายังปรานีเขียนชื่อสถานีเป็นภาษาอังกฤษไว้ให้ด้วย

วันรุ่งขึ้นเราก็ไปพบอาจารย์ที่แล็บ ซึ่งถามพี่หลายๆ คนจนรู้ว่าแล็บอยู่ชั้น 10 ตึก S3 สภาพตึกนั้นเก่าใช้ได้ทีเดียวไม่ต่างจากตึกของภาคที่จุฬาฯ เท่าไรนัก ด้วยความที่ไปเช้าจัด ทำให้วันนั้นแล็บเงียบสนิท ไม่มีใครอยู่ซักคน อาจารย์ก็ไม่อยู่ หลังจากด่อมๆ มองๆ หน้าห้องอาจารย์อยู่นาน คนที่เดินผ่านมาก็เลยถามว่ามาทำอะไร พอบอกว่ามาหาอาจารย์ แกก็ดูป้ายหน้าห้องแล้วบอกว่าเหมือนว่าอาจารย์จะไม่อยู่นะ เอาอย่างนี้ล่ะกันเดี๋ยวพาไปถามที่ห้องธุรการของภาคฯ สุดท้ายแกก็พาไปที่ชั้นสอง ซึ่งเป็นสำนักงานต่างๆ พอไปถามก็ได้ความว่าอาจารย์ไม่อยู่หลายวันเลย เราเลยกะว่างั้นกลับก่อน แล้วค่อยมาหาแกทีหลังดีกว่า (ที่จริงถ้าเรามาสาย(บ่าย)กว่านั้นก็คงจะเจอนักเรียนในแล็บแหละ) แต่ยังไงก็ต้องขอบคุณพี่คนนั้นแกไว้ด้วย ที่ช่วยพาไปถามให้

15 March 2005

Ubuntu and Sun J2SDK

ขอคั่นเรื่องยาวไว้ก่อน เนื่องจากวันนี้ต้องการใช้ Java บน Ubuntu ที่ลงเมื่อวานนี้ ตอนแรกก็ลองลงเองไปแล้วล่ะ แต่มีปัญหาเรื่องกำหนด PATH นิดหน่อย เลยลองค้นๆ เว็บดู ไปเจอคนโพสต์วิธีติดตั้ง Java ของ Sun โดยใช้ระบบแพคเกจไว้ด้วย เนื่องจากมีปัญหาเรื่องสัญญาการใช้งาน ทำให้ลินุกซ์ส่วนใหญ่จะไม่ทำแพคเกจของ J2SDK มาให้ทันที ต้องหาทางลงด้วยวิธีต่างๆ วิธีที่เจอนี้ทำได้ง่ายโดยการลงแพคเกจที่ชื่อ java-package เพื่อให้สามารถสร้างแพคเกจของตัวเองจากไฟล์ที่โหลดมาจาก Sun จากนั้นจึงเอาแพคเกจที่ได้มาติดตั้ง ก็เป็นอันเสร็จสิ้น ขอจดวิธีการทั้งหมดไว้ก่อนกันลืม

$ sudo apt-get install java-package
$ fakeroot make-jpkg j2sdk-1_4_2_07-linux-i586.bin (ต้องไปโหลด J2SDK รุ่นที่ต้องการมาไว้ก่อน)
$ sudo dpkg -i sun-j2sdk1.4_1.4.2+07_i386.deb (ตามแพคเกจที่ได้)

14 March 2005

รำลึกความหลัง (1)

หลังจากอยู่ที่ญี่ปุ่นมาหกปีกว่า ตอนนี้เหลือเวลาอยู่ที่นี่อีกไม่ถึงยี่สิบวันแล้ว (ส่วนตัวเชื่อว่าคงจะได้มาอีก แล้วว่าคงไม่ได้มาอยู่ยาวๆ อย่างนี้อีกแล้วล่ะ) ขอเขียนบันทึกเรื่องราวสมัยอยู่ที่นี่ไว้หน่อยดีกว่า เผื่อไว้ตอนแก่ๆ จะได้มาอ่านได้ สาเหตุที่ได้มาญี่ปุ่นก็พอตอนปีสี่ มีเพื่อนชวนไปสอบชิงทุนรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งจัดโดยสถานทูต ตัวเองก็ไปสอบเล่นๆ ตามประสา ปรากฏว่าในบรรดาเพื่อนในภาคฯ ที่ไปด้วยกัน มีเราสอบข้อเขียนผ่านอยู่คนเดียว เลยได้ไปสอบสัมภาษณ์ ไม่รู้เป็นไปได้ยังไงเหมือนกัน ทั้งๆ ที่ตัวเองก็ไม่ได้เก่งที่สุดในเพื่อนพวกนั้น สมัยนั้นข้อสอบเป็นแบบปรนัย 22 ข้อ เนื้อหาประมาณวิชาพื้นฐาน คล้ายๆ ข้อสอบเอนทรานซ์ กับวิชาพื้นฐานที่เรียนตอนปีหนึ่งปีสอง ที่นี้ก็ถึงวันสอบสัมภาษณ์ ซึ่งสอบเป็นภาษาอังกฤษ จำได้ว่าตอบได้ทุกคำถามแหละ แต่ว่าสั่นสุดๆ สอบเสร็จก็คิดไว้แหละว่าตัวเองคงไม่ได้ เพราะบุคลิกคงไม่ค่อยดีเท่าไหร่ สั่นออกขนาดนั้น (สมัยก่อนเป็นโรคตื่นเต้นง่าย หน้ายังบางอยู่ เดี๋ยวนี้ไม่รู้ความตื่นเต้นมันหายไปไหนหมด) ปรากฏว่าผลสอบออกมาได้ตัวสำรอง อืม...ทำไมมันครึ่งๆ กลางๆ อย่างนี้วะ จะได้ก็ไม่ได้ จะตกก็ไม่ตก แต่พอได้ตัวสำรองเขาก็ให้ทำทุกอย่างเหมือนคนได้ตัวจริงหมดเลย ตั้งแต่เริ่มหาที่เรียน คือต้องหาอาจารย์ที่ปรึกษาคนญี่ปุ่น เราก็ค่อนข้างสบาย โดยไปรบกวนอาจารย์บุญเสริมให้ติดต่อที่อาจารย์ให้ ตอนนั้นเริ่มทำโปรเจคท์กับอาจารย์อยู่แล้วด้วย อาจารย์ก็ติดต่ออาจารย์นุมะโอะ แล้วก็ขอใบรับเราเข้าเรียนเรียบร้อย จากนั้นก็ต้องไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลจุฬาฯ จำได้ว่าตรวจเยอะมากๆ ต้องเดินขึ้นลงตึกภปร. เป็นว่าเล่น แต่สุดท้ายก็สามารถส่งเอกสารทั้งหมดครบ เขาก็บอกให้รอ จะแจ้งผลทุนอย่างเป็นทางการอีกครั้งราวเดือนมกราคม สำหรับคนที่จะเดินทางไปญี่ปุ่นในเดือนเมษายน ตอนนั้นมีหวังเล็กๆ เพราะคนที่ได้ตัวจริงก็โดนขู่ว่าผลตัวจริงนี้ แค่เป็นคำแนะนำของสถานทูตไปที่กระทรวงศึกษาของญี่ปุ่น ผลทุนอย่างเป็นทางการจะมาจากญี่ปุ่นอีกครั้ง คนที่ได้ตัวจริงก็อาจจะไม่ได้ก็ได้ แถมฉิมยังบอกด้วยว่าปีที่แล้วคนที่ได้สำรองก็ได้ทุนหมดทุกคน

หลักจากนั้นก็ตั้งหน้าตั้งตาทำโปรเจคท์กับมอส ไปๆ มาๆ ระหว่างเนคเทคกับจุฬาฯ มาก จนกระทั่งเดือนมกราคม ก็มีจดหมายฉบับหนึ่งส่งไปที่บ้าน แสดงความเสียใจว่าเราไม่ได้ทุน จำอารมณ์ตอนอ่านจดหมายไม่ได้แล้วล่ะ แต่จำได้ว่าไม่ได้รู้สึกเสียใจมากนัก เพราะตัวเองก็ได้แค่ตัวสำรอง จากนั้นเรียนจบก็เลยไปทำงานที่ NCR ตามคำชวนของพี่ต๋อง เนื่องจากตอนปีสามไปฝึกงานที่นั่น เริ่มทำงานตั้งแต่วันแรกที่เรียนจบ คือ 16 มีนาคม 2541 ที่จริงที่บ้านก็อยากให้เรียนต่อนะ แต่ตัวเองรู้สึกเสียดายเงิน (ช่วงนั้น 1 ดอลลาร์ ประมาณเกือบ 50 บาท) เลยคิดว่าขอทำงานหาประสบการณ์ก่อนดีกว่า แล้วค่อยเรียนต่อทีหลัง พอเริ่มทำงาน ก็เริ่มสนุกกับงานไปอีกแบบหนึ่ง เพราะได้ทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ คือ ออกแบบระบบและเขียนโปรแกรม ที่ NCR ใช้ Delphi เป็นหลัก พอเริ่มสนุกกับงาน คือ ทุกอย่างเริ่มลงตัว มีที่นั่งประจำเป็นของตัวเอง การเดินทางก็ไม่ลำบากนัก เพราะใช้เรือด่วนเจ้าพระยา แป๊บเดียวก็ถึง ไม่มีรถติดมาให้กังวลใจ จนเดือนสิงหาคม ต้องไปติดตั้งโปรแกรมที่สิงคโปร์ ซึ่งเป็นการเดินทางไปต่างประเทศครั้งที่สอง ระหว่างที่อยู่สิงคโปร์แล้วโทรกลับมาบ้าน ปรากฏว่าแม่บอกว่าสถานทูตญี่ปุ่นส่งจดหมายมาว่าจะให้ทุน เล่นเอาคืนนั้นนอนไม่หลับเลย เพราะตัวเองเป็นคนไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ยิ่งการไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่นเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่มากๆ เพราะต้องไปอยู่ในประเทศที่ไม่รู้จัก แถมเป็นประเทศที่ไม่พูดภาษาอังกฤษอีก ที่บ้านทุกคนอยากให้ไปมากๆ เพราะอยากให้เรียนต่อเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แถมงานบริษัทที่ทำมันก็ไม่ได้มั่นคงอะไรนัก คือถ้าวันดีคืนดีระบบที่เราทำอยู่ขายไม่ออก เราก็โดนปลดออกเท่านั้นเอง เพราะบริษัทเขาจะดูกำไรต่อจำนวนพนักงาน ถ้ากำไรน้อยลง ก็ต้องลดพนักงานลง โดยไม่สนใจว่าพนักงานเรานั้นได้เรียนรู้ หรือว่าเตรียมระบบอะไรไว้ขายบ้าง เขากะว่ามีโอกาสเมื่อไหร่ก็จ้างเพิ่มได้เมื่อนั้น ท้ายที่สุดก็ไปคุยกับอาจารย์บุญเสริม แล้วก็ตัดสินใจว่าจะไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่น ตอนนั้นมีเวลาเตรียมตัวไม่มาก ภาษาญี่ปุ่นก็ไม่เคยเรียนสักตัว ถามดังเจตน์ว่าจำเป็นไหม ก็ได้คำตอบว่าจำเป็น อย่างน้อยควรจะจำตัวอักษรฮิระงะนะ กับคะตะคะนะได้ แล้วก็ได้แบบฝึกอ่านตัวอักษรเหล่านี้จากฉิม เพราะบ้านฉิมอยู่ข้างๆ บริษัททำให้นัดเจอกันง่ายมาก

เมื่อวันเดินทางใกล้เข้ามา ก็ต้องไปขอวีซ่าซึ่งมารู้ทีหลังว่าการเป็นนักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่นเนี้ย ทำให้การขอวีซ่านักเรียนง่ายมากๆ แค่เอาพาสปอร์ตไปทิ้งไว้ที่สถานทูตสองวันก็ได้แล้ว แถมมีการปฐมนิเทศนักเรียนทุน มีการพาไปเลี้ยงอาหารญี่ปุ่นร้านใกล้ๆ สถานทูตด้วย สมัยนั้นคนไทยยังไม่ฮิตอาหารญี่ปุ่นเท่าปัจจุบัน เลยเป็นครั้งแรกที่ได้ลิ้มรส บอกได้คำเดียวว่ารสชาติแย่มากๆ ไม่อร่อยเอาซะเลย สำหรับเราซึ่งนิยมกินอาหารรสจัดแล้ว มันเหมือนไม่มีรสชาติอะไรเลย มีซุปเต้าเจี้ยวอะไรก็ไม่รู้ ซึ่งเวลากินต้องใช้วิธียกซดเอาด้วยประหลาดสุดๆ ก่อนไปมีปัญหาอีกนิดหน่อยเพราะสถานทูตสะกดชื่อเราผิด ตั๋วเครื่องบินที่ได้เลยผิดได้ด้วย ทำให้ต้องไปแก้ตั๋วที่สำนักงานของ JAL เอง ค่อนข้างลำบากพอสมควร พอถึงวันเดินทางก็มีเพื่อนๆ กับญาติๆ มาส่งกันเยอะเลย จำได้ว่าสุดท้ายรีบลาพ่อแม่ แล้วก็รีบเข้าไปตรวจพาสปอร์ต ตอนนั้นใจหายยังไงไม่รู้ เพราะที่เคยไปต่างประเทศคือรู้วันกลับแน่ๆ จองตั๋วไว้แล้ว แต่ครั้งนี้มีแค่ตั๋วขาไปที่สถานทูตออกให้ จะได้กลับอีกเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ แต่ก็คิดในทางที่ดีว่า ทุนก็น่าจะพอซื้อตั๋วกลับได้ไม่ยากน่ะ พอเข้ามานั่งรอ เที่ยวบินนั้นมีแต่นักเรียนทุนเต็มไปหมด แต่ถามใครแล้ว ไม่มีใครไปเรียนมหาลัยเดียวกับเราสักคน ใกล้สุดก็แค่มหาวิทยาลัยโตเกียวซึ่งอยู่ในโตเกียวเหมือนกัน แต่อยู่ตรงไหนก็ไม่รู้ แต่อย่างไรก็ดีตอนเดินขึ้นเรื่องได้เจอพี่ชัยเล็ก แล้วก็ทำให้รู้ว่าแกจะไปที่เดียวกับเรา แต่แกได้ทุนคนละแบบพอไปถึงญี่ปุ่นแล้วจะมีเพื่อน (พี่ฮ่อน) มารับในขณะที่เราต้องมี AIEJ มารับ

พอมาถึงญี่ปุ่นก็เป็นเวลาเช้าของวันที่ 2 ตุลาคม เราต้องรอเจ้าหน้าที่ของ AIEJ ซึ่งเขาบอกให้นั่งรออยู่ในเทอร์มินัล ตอนนั้นเริ่มหาตู้โทรศัพท์ แล้วสุดท้ายก็สามารถซื้อบัตรแล้วโทรกลับไปที่บ้านได้สำเร็จ จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็ค่อยมาเรียกให้เข้าไปทีละคน โดยแต่ละคนจะได้เงินติดตัวก่อนคนละเล็กน้อย แล้วเจ้าหน้าที่ก็จะบอกที่พักและพาไป พอถึงตาเรา ก็ได้คำบอกว่าเนื่องจากหอที่พักของเราอยู่ใกล้โตเกียว ก็เลยจะให้เรานั่งรถบัสเข้าไปลงที่ชินจูกุก่อน (ตอนนั้นยังจำไม่ได้หรอกว่าเรียกว่าชินจูกุ) แล้วเจ้าหน้าที่จะเรียกแท็กซี่ไปส่งที่หออีกที ตอนนั้นยังตื่นเต้นอยู่ ก็ได้แต่ทำตามที่เจ้าหน้าที่บอก พอขึ้นรถบัสก็รู้สึกว่าสภาพบ้านเมืองของญี่ปุ่นเป็นที่ตื่นตาตื่นใจมาก (ช่วงนี้ความรู้สึกแบบนี้ก็หายไปเหมือนกัน แม้จะไปประเทศใหม่ๆ ที่ไม่เคยไป) นั่งชมวิวไปตลอดทาง พอถึงชินจูกุเจ้าหน้าที่เขาก็เรียกให้ไปขึ้นแท็กซี่ทีละคน ใครที่ไปที่เดียวกัน ก็จัดให้นั่งไปด้วยกัน ส่วนเราต้องนั่งไปคนเดียว เจ้าหน้าที่บอกทางไปหอให้คนขับเรียบร้อย ก็ให้เราขึ้นรถ ปรากฏว่านั่งไปนานและไกลมากๆ ไม่ถึงสักที ทั้งๆ ทีรถก็ไม่ติด แถมยังขับเร็วมากๆ ค่าแท็กซี่ก็ขึ้นไปเรื่อยๆ หมื่นกว่าเข้าไปแล้ว ตอนนั้นคิดในใจว่าเอาวะเป็นไงเป็นกัน คุยกับคนขับก็ไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่จำได้ว่าเขาถามเราว่ามาเรียนเหรอ เราก็บอกว่าใช่แค่นั้นเอง แต่สุดท้ายคนขับก็พาเราไปถึงหอโชฟู ซึ่งเป็นหอสำหรับนักเรียนต่างชาติของโตโกไดจนได้ และทำให้รู้ทีหลังว่าเราไม่ต้องจ่ายเงิน เดี๋ยวแท็กซี่เขาไปเก็บเงินกับ AIEJ เอง โอ้...มีอย่างนี้ด้วยแฮะ ตอนแรกคิดว่าคงต้องจ่ายไปก่อน แล้วอาจจะขอคืนได้ทีหลัง เพราะเขาบอกว่าเขาจะออกค่าแท็กซี่ให้เรา

พอเข้าไปถึงหอก็เจอคนดูแลหอซึ่งก็คือเนกิชิซัง เอาเอกสารต่างๆ มาให้เราเซ็น พร้อมกับแนะนำหลายๆ อย่าง สุดท้ายก็บอกว่าจะมีติวเตอร์พาเราไปทำบัตรคนต่างชาติอีกสองสามวันหลังจากนั้น ก็ได้แต่ฟังอย่างเดียว ท้ายที่สุดเนกิชิซังพาไปดูห้องพัก ก็เป็นห้องเล็กๆ มีโต๊ะทำงาน เตียง ตู้เสื้อผ้า ตู้เย็นพร้อม ตอนขนกระเป๋าขึ้นบันไดหอ ก็มีผู้ชายตัวใหญ่ๆ ใจดีคนหนึ่งมาช่วยขน สุดท้ายก็ขอบคุณเป็นภาษาอังกฤษกลับไป ปรากฏว่าหน้าแตกเพราะพี่ตี๋ใหญ่แกเป็นคนไทย แล้วแกก็รู้ว่าเราจะมาวันนี้ เลยรออยู่ที่หอก่อน พอได้เจอคนไทยก็ทำให้ใจชื้นขึ้นมาเป็นกอง เพราะยังไงก็คงรอดตายมีที่พึ่งได้พอสมควรแล้ว และด้วยความรู้สึกนี้ทำให้ตัวเองชอบไปรับนักเรียนไทยที่มาใหม่เสมอๆ เพราะคิดว่าเขาเหล่านั้นก็คงรู้สึกเหมือนเรา หลังจากเก็บของเรียบร้อย พี่ตี๋ก็บอกว่าจะพาไปมหาลัย แต่ว่าเรายังไม่ได้กินข้าวเลยตั้งแต่เช้า แกเลยพาไปกินมัทซึยะ ซึ่งขายข้าวหน้าเนื้อวัวอยู่ใกล้ๆ สถานีอะโอะบะได จำได้ว่าแม้ว่าจะจืดๆ แต่ก็อร่อยอย่างบอกไม่พูด แหะๆๆ คงเป็นเพราะหิวมากๆ นั่นเอง แต่ข้าวชามนั้นเยอะมากๆ จนกินไม่หมด (ไม่อยากจะเขียนไว้เลยว่า เมื่ออยู่มาซักพัก รู้สึกว่าแค่ไม่พอ) เขียนแล้วหิว ไว้ค่อยมาเขียนต่อล่ะกัน

คีย์บอร์ดญี่ปุ่นกับไทย

ไหนๆ ก็เขียนเรื่องเกี่ยวกับคีย์บอร์ดแล้ว ขอจดเรื่องคีย์บอร์ดญี่ปุ่นกับไทยบน xorg ไว้หน่อยล่ะกัน คีย์บอร์ดญี่ปุ่นที่ว่านี้พูดถึงคีย์บอร์ดส่วนภาษาอังกฤษที่นิยมใช้กันในญี่ปุ่น แม้ว่าญี่ปุ่นจะใช้ระบบ Qwerty แต่การวางปุ่มเครื่องหมายพิเศษต่างๆ ไม่เหมือนคีย์บอร์ดภาษาอังกฤษที่ใช้ในเมืองไทย เป็นต้นว่า ตรงตำแหน่ง single quote จะเป็น colon ส่วน double quote จะเป็น asterisk สร้างปัญหาให้กับชาวต่างชาติที่เพิ่งมาญี่ปุ่นพอสมควร แต่ส่วนตัวเนื่องจากหลายๆ สาเหตุ ทำให้ตอนนี้ติดคีย์บอร์ดแบบญี่ปุ่นไปแล้ว คือว่ายังจำคีย์แบบเมืองไทยได้ แต่ว่าจะพิมพ์ได้ไม่เร็วเท่าแบบญี่ปุ่น ถ้าใช้วินโดวส์ก็ไม่เกิดปัญหาเท่าไหร่ เพราะสามารถเลือกได้ถูกต้อง แต่พอเวลาใช้ xorg จะเกิดปัญหา

ปัจจุบันเวลาเลือกคีย์บอร์ดภาษาไทย จะทำได้โดยใช้คำสั่ง setxkbmap us+th แต่ว่าถ้าทำอย่างนี้แล้วคีย์ส่วนภาษาอังกฤษจะเป็นแบบอเมริกัน คือแบบที่ใช้กันในเมืองไทย ถ้าอย่างได้ญี่ปุ่นก็เดาว่าต้องใช้ setxkbmap jp+th ปรากฏว่าเกิดปัญหา เพราะจะเลือกไม่ได้เนื่องจากลองเลือก setxkbmap -v jp+th แล้ว พบว่ามันถูกแปลเป็น pc/jp+th แล้วเจ้า pc/jp นี้หมายถึงไฟล์สัญลักษณ์ที่เก็บไว้ที่ /etc/X11/xkb/symbols/pc/jp ซึ่งมันไม่มีอยู่จริง ไฟล์ของคีย์ภาษาญี่ปุ่นเก็บที่ /etc/X11/xkb/symbols/jp ทางแก้ทางแรกสุดคือมั่วครับ ลองก๊อปปี้มันดื้อๆ เลย แล้วลองใหม่ ปรากฏว่าผ่านแฮะ แถมยังเลือกกลุ่มให้ถูกต้องด้วย เป็นอันว่าหมดปัญหา เลยขี้เกียจหาทางแก้ที่ดูดีกว่านี้ เพราะจะว่าไปแล้วคงไม่ค่อยมีใครใช้อยู่แล้ว และอีกไม่กี่วันจะกลับเมืองไทยแล้ว ก็อาจจะไม่ได้ใช้แล้วล่ะ (แต่ไม่แน่ อ.บอกว่าจะยกคีย์บอร์ดอย่างดีให้อันนึง ถ้าได้กลับไป อาจจะต้องติดคีย์บอร์ดญี่ปุ่นต่อไปก็ได้ แหะๆๆ)

Ubuntu 5.04 "Hoary HedgeHog" Preview Release

Ubuntu ออก Preview release สำหรับรุ่น 5.04 มาซักพักใหญ่แล้ว แต่ช่วงนี้ยุ่งๆ เลยไม่ได้ลองซักที วันนี้เพิ่งได้ลอง เนื่องจากเห็นว่ารุ่นนี้เขาใส่ Gnome 2.10 ตัวใหม่ที่เพิ่งออกเมื่อวานที่ 9 มีนา เลยทำให้อยากลอง แหะๆ ขี้เกียจรอ Gentoo คอมไพล์ Gnome ใหม่ทั้งหมด แถม portage ของ 2.10 ยังไม่เสถียรอีกด้วย (คงต้องรอซักพักใหญ่)

เนื่องจากเครื่องที่ใช้งานอยู่เป็น Nocona เลยเลือก iso แบบ AMD64 มาลองก่อน ปรากฏว่าเจอบักตั้งแต่เริ่มติดตั้งเลย ประมาณว่าอยู่ๆ คีย์บอร์ดก็แฮงค์ไปเฉยๆ สุดท้ายเลยไปเอารุ่น i386 มาลองเหมือนเดิม ก็ใช้งานได้ดี แม้ว่าระบบการติดตั้งของ Ubuntu ยังเป็นแบบเทกซ์ แต่ว่าสะดวก เข้าใจง่าย เหมาะกับผู้ใช้มือใหม่มากๆ พอติดตั้งเสร็จ ก็จัดการทุกอย่างให้เรียบร้อย สามารถใช้งาน Gnome ได้ทันที การติดตั้งแพคเกจก็ใช้ apt-get เหมือน debian ทำให้ตัวเองซึ่งเป็นสาวกเก่า debian เข้าใจได้ทันที มีแพคเกจต่างๆ ครบครัน จะใช้ไดร์เวอร์ของ nvidia ก็ง่ายนิดเดียว ทำตาม Wiki ของ Ubuntu ก็ได้แล้ว แค่ sudo apt-get install nvidia-glx แล้วก็ sudo nvidia-glx-config enable ส่วนคอนฟิกของ xorg ใช้วิธีก๊อปปี้มาจาก Gentoo อยู่แล้ว เลยไม่ต้องทำอะไรเพิ่ม สบายไปอย่างหนึ่ง

มาเจอปัญหานิดหน่อยตรง การพิมพ์ภาษาญี่ปุ่น เนื่องจากตัวเองใช้ uim กับ anthy อยู่ เลยลองด้วย sudo apt-get install uim anthy ซึ่งก็จะได้ immodules ของ gtk+ ซึ่งทำให้สามารถพิมพ์ภาษาญี่ปุ่นได้ทันที แต่ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น เหมือนกับว่า uim-immodules ของ Ubuntu ไม่ได้คอมไพล์ uim-anthy มาให้ (ทั้งๆ ที่รายละเอียดของแพคเกจก็บอกว่ามี) เพราะว่าเวลาลองเลือกใช้ uim-anthy แล้วฟ้องว่าหาไม่เจอ ครั้นจะคอมไพล์เองก็ขี้เกียจ เลยลองใช้ผ่าน uim-xim ซึ่งเป็นสะพานระหว่าง uim กับ xim ดู ปรากฏว่าใช้ได้ สรุปว่าใช้ผ่าน xim ไปก่อนล่ะกัน โดยใส่การกำหนดค่าทั้งหมดไว้ใน ~/.gnomerc ซึ่งเป็นความรู้ใหม่ว่าจะถูกเรียกทุกครั้งที่เข้า Gnome

export XMODIFIERS=@im=uim-anthy
export GTK_IM_MODULE=xim
uim-xim &

ส่วนภาษาไทย กำหนดผ่าน Keyboard layout indicator applet ของ Gnome แล้ว ท้ายที่สุดก็สามารถพิมพ์ไทย และญี่ปุ่นได้อย่างราบรื่น