จะเขียนต่อมาตั้งหลายวันแล้ว แต่ช่วงนี้งานราษฎร์งานหลวงพัวพันเยอะเหลือเกิน เพราะกำลังอยู่ในระหว่างปิดงบ ต้องรีบใช้งบวิจัยต่างๆ ให้หมดโดยเร็ว ทำให้ต้องวุ่นวายกับการติดต่อโน้นนี่เต็มไปหมด แถมตัวเองจะกลับเมืองไทยด้วยก็ต้องเตรียมส่งของกลับเมืองไทย แล้วก็รื้อบ้านเก็บบ้านให้เรียบร้อยก่อนวันกลับ วันนี้เพิ่งจะได้มีเวลาหายใจเล็กน้อย เลยขอมาเขียนทิ้งไว้หน่อยก่อนล่ะกัน
หลังจากพี่ตี๋พาขึ้นรถไฟมามหาวิทยาลัย ก็ทำให้รู้ว่าหอที่พักอยู่ห่างจากมหาวิทยาลัยมาก (มิน่านั่งแท็กซี่ตั้งนานกว่าจะถึง) โดยแคมปัสตั้งอยู่ในเขตจังหวัดโตเกียว ในขณะที่หอพักตั้งอยู่ในเมืองโยโกฮะมะ จังหวัดคะนะกะวะ เลยต้องเดินทางด้วยรถไฟประมาณ 40 นาที สมัยนั้นเมืองไทยยังไม่มีรถไฟฟ้าบีทีเอส ทำให้รู้สึกว่าการเดินทางด้วยรถไฟนี่ก็สะดวกสบายดี และบริษัทรถไฟของญี่ปุ่นจะประกาศตารางเวลาที่แน่นอนไว้ และรถไฟจะมาตรงเวลาเสมอ จำได้ว่าพี่ตี๋แกสอนอ่านตารางรถไฟด้วย พอไปถึงแคมปัสซึ่งอยู่ติดสถานีโอโอะกะยะมะ เรียกว่าเดินออกจากสถานีปุ๊บก็เห็นประตูทางเข้าเลย ตัวแคมปัสเล็กกว่าที่คิดไว้เยอะเลย แต่ก็ไม่ได้แคบจนเกินไปนัก พี่ตี๋พาเราเดินไปดูตึกต่างๆ แล้วก็ไปเจอกลุ่มคนไทยที่ตึก S3 ซึ่งเป็นตึกของภาคไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ในสมัยนั้น ได้เจอคนไทยเยอะๆ ก็รู้สึกอบอุ่นดี ทำให้รู้ว่าที่นี่มีคนไทยอยู่เยอะมาก ประมาณ 40-50 คน แถมคนไทยยังมีนิสัยชอบเดินไปเดินมา (อันนี้คิดเอาเอง) เพราะเวลาออกจากแล็บมา มักจะเจอนักเรียนไทยอย่างน้อย 2-3 คนเสมอ หลังจากทักทายกันเป็นที่เรียบร้อยจนเริ่มเย็น พี่ตี๋ก็พาไปฝั่งมิโดริกะโอกะ เพื่อไปสบทบกับคนที่เพิ่งมาใหม่วันนี้เหมือนกัน ทำให้เจอพี่ชัยซึ่งหายตัวไปตั้งแต่เช้า แล้วก็เจอพี่ต่อซึ่งเป็นเพื่อนพี่ตี๋มาเรียนปริญญาเอกทางโยธาเหมือนกัน แล้วพี่ๆ แกก็พาไปกินข้าวที่จิยูกะโอกะ (วันนั้นจำชื่อไม่ได้หรอก รู้สึกแค่ว่าทำไมมันซ้ำๆ กันอย่างนี้ มีแต่กะโอกะ แล้วจะจำได้ไหมเนี้ย) วันนั้นไปกินสปาเก็ตตี้ที่ร้านคะปิโจซะ จำได้แค่ว่าบรรยากาศก็ดี แถมรสชาติก็ดีกว่าอาหารญี่ปุ่นเยอะเลย ร้านนี้เป็นที่พึ่งให้เราอีกนาน จนก่อนย้ายมาโอซาก้าถึงจะปิดตัวเองไปเนื่องด้วยสภาพเศรษฐกิจ นอกจากนี้ในวันนั้นยังได้รู้ว่าเราเป็นคนไทยที่มาใหม่คนเดียวที่ต้องอยู่หอโชฟู ส่วนคนอื่นๆ เขาอยู่ที่หออุเมะกะโอะกะ ซึ่งอยู่สถานีถัดไป 1 สถานีจากสถานีของหอเรา สถานีนั้นชื่อฟุจิกะโอะกะ ฟังแล้วเริ่มคิดว่ากะโอะกะเนี้ยมันต้องเกี่ยวข้องกับสถานที่อะไรแน่เลย ทำไมต้องเอามาต่อท้ายตลอดเลยเนี้ย
หลังจากกินข้าวเสร็จ กลับมาที่ห้องคนเดียว ความเหงาก็เริ่มบังเกิด ตอนแรกไม่เหงาเพราะมัวแต่ตื่นเต้นกับถนนหนทาง แล้วก็มีคนคุยด้วยตลอดเวลา เริ่มคิดว่าทำไมเราต้องจากบ้านจากเมืองมาไกลขนาดนี้ด้วยนี่ แล้วเราจะดำรงชีวิตได้ไหม ในขณะที่เราไม่รู้ภาษาอะไร แถมคนญี่ปุ่นก็พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ด้วย แต่ความเหนื่อยล้าจากการเดินทาง ก็ทำให้เราหลับไปอย่างง่ายดาย โดยไม่คิดอะไรมาก หลังจากนั้นเริ่มจำรายละเอียดไม่ค่อยได้แล้วล่ะ ว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง รู้แต่ว่าพอถึงวันที่คุณเนกิขินัด ไว้ ก็มีติวเตอร์ของหอซึ่งเป็นนักเรียนปริญญาเอกชาวโคลัมเบียพาไปทำบัตรคนต่างชาติ พร้อมกับทำประกันสุขภาพ ที่ที่ว่าการเขตอะโอบะ ซึ่งอยู่ที่สถานีอิชิกะโอะ เสร็จแล้วตอนบ่ายก็ไปที่ศูนย์นักเรียนต่างชาติของมหาวิทยาลัย มีปฐมนิเทศเล็กน้อย ก่อนที่จะมีติวเตอร์อีกกลุ่มหนึ่งพาไปเปิดบัญชีธนาคาร ที่หน้ามหาวิทยาลัยไว้สำหรับโอนทุนมาให้ทุกเดือน ตอนเช้าที่ไปทำบัตรก็เดินคุยกับติวเตอร์ไปหน่อย ทำให้รู้ว่าเขาเรียนอยู่แล็บเดียวกับเรา แล้วเขาก็บอกว่าถ้าว่างเมื่อไหร่ก็ให้เข้าไปที่แล็บได้เลยอาจารย์รออยู่ แต่วันนั้นจำไม่ได้ว่ามีอะไร แต่ไม่ได้ไปที่แล็บแต่กลับหอเลย ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เราต้องขึ้นรถไฟคนเดียว จำได้ว่าเล็งทุกสถานีเลย เพราะถึงแม้ว่าจะมีประกาศชื่อสถานีต่อไปบนรถ แต่ด้วยเสียงอันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของบรรดาผู้ประกาศทั้งหลาย ทำให้เราไม่สามารถฟังแยกเฉพาะชื่อสถานีได้ เลยต้องเล็งกันทุกครั้งที่รถไฟจอด ดีหน่อยที่เขายังปรานีเขียนชื่อสถานีเป็นภาษาอังกฤษไว้ให้ด้วย
วันรุ่งขึ้นเราก็ไปพบอาจารย์ที่แล็บ ซึ่งถามพี่หลายๆ คนจนรู้ว่าแล็บอยู่ชั้น 10 ตึก S3 สภาพตึกนั้นเก่าใช้ได้ทีเดียวไม่ต่างจากตึกของภาคที่จุฬาฯ เท่าไรนัก ด้วยความที่ไปเช้าจัด ทำให้วันนั้นแล็บเงียบสนิท ไม่มีใครอยู่ซักคน อาจารย์ก็ไม่อยู่ หลังจากด่อมๆ มองๆ หน้าห้องอาจารย์อยู่นาน คนที่เดินผ่านมาก็เลยถามว่ามาทำอะไร พอบอกว่ามาหาอาจารย์ แกก็ดูป้ายหน้าห้องแล้วบอกว่าเหมือนว่าอาจารย์จะไม่อยู่นะ เอาอย่างนี้ล่ะกันเดี๋ยวพาไปถามที่ห้องธุรการของภาคฯ สุดท้ายแกก็พาไปที่ชั้นสอง ซึ่งเป็นสำนักงานต่างๆ พอไปถามก็ได้ความว่าอาจารย์ไม่อยู่หลายวันเลย เราเลยกะว่างั้นกลับก่อน แล้วค่อยมาหาแกทีหลังดีกว่า (ที่จริงถ้าเรามาสาย(บ่าย)กว่านั้นก็คงจะเจอนักเรียนในแล็บแหละ) แต่ยังไงก็ต้องขอบคุณพี่คนนั้นแกไว้ด้วย ที่ช่วยพาไปถามให้
No comments:
Post a Comment