เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ไปกินข้าวกับเพื่อนหลายๆ คน แล้วมีคำถามว่า "ทำไมคนที่เรียนที่ญี่ปุ่นจะต้องทำนั่งทำงานอยู่ที่แล็บจนดึกจนดื่น ?" ได้ตอบคำถามไปพอสมควร คิดว่าคนถามก็รับกับคำตอบได้ แต่วันนี้มานั่งนึกๆ ว่ายังตอบไม่ดีเท่าที่ควร เลยเอามาเขียนตอบไว้ในนี้ด้วยดีกว่า
จากที่ไปเรียน และทำงานที่ญี่ปุ่นมา รู้สึกว่าคนญี่ปุ่นจะให้ความสำคัญกับคนขยันมากกว่าคนเก่ง เรียกว่าเก่งไม่เก่งไม่เป็นไร ขอให้ขยันไว้ก่อนเป็นใช้ได้ ดังนั้นอาจารย์ญี่ปุ่น (โดยเฉพาะรุ่นเก่าๆ) จึงมักจะบังคับให้นักศึกษา (ระดับปริญญาโท และเอก) มานั่งทำงานที่ห้องวิจัยทุกวัน โดยไม่สนใจว่าเด็กคนนั้นจะทำอะไร ซึ่งบางครั้งเด็กก็อาจจะเล่นโน้นเล่นนี้กัน ไม่ได้ทำงานก็มี แต่จะว่าเป็นที่วัฒนธรรมทั้งหมดก็คงจะไม่ได้ เพราะการที่นักศึกษามาทำงานที่ห้องวิจัยนั้น มีประโยชน์ให้เกิดบรรยากาศในการวิจัย คือเมื่อมานั่งทำงานอยู่ด้วยกัน ก็จะสามารถช่วยเหลือกัน รวมทั้งยังสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย อาจจะทำให้เกิดความคิดใหม่ๆ ขึ้นได้ง่ายกว่านั่งคิดอยู่คนเดียว การบังคับให้นักศึกษามาทำงานทุกวัน จึงเป็นเหมือนกุศโลบายอย่างหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นวิธีที่ไม่ดีนัก แต่ก็ให้ผล และมีประโยชน์ต่อนักศึกษาโดยตรง
ในปัจจุบันอาจารย์รุ่นใหม่ก็จะพยายามไม่บังคับนักศึกษา แต่จะพยายามใช้วิธีโน้มน้าวแทน อย่างห้องแล็บที่เคยทำงานอยู่ เนื่องจากเป็นห้องแล็บเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ทำให้สามารถทำงานที่บ้านได้ อาจารย์ก็เลยไม่มีเหตุผลที่จะบังคับให้มาทำงานทุกวัน แต่อาจารย์จะพยายามหาเครื่องคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่เข้าห้องแล็บตลอด แล้วก็ใช้คอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ๆ เป็นตัวดึงดูดให้นักศึกษาเข้ามาทำงานทุกวัน เนื่องจากมีอะไรให้เล่นมากกว่าอยู่ที่บ้าน ที่รู้อย่างนี้ก็เพราะเคยทำเรื่องจัดซื้อคอมพิวเตอร์ แล้วเลือกสเปคไม่สูงมากนั้ก เพราะรู้สึกว่าไม่จำเป็น แต่อาจารย์ไม่ยอม เพราะแกบอกว่าถ้าซื้อเครื่องธรรมดาๆ มา ก็คงจะไม่มีใครสนใจมาห้องแล็บ แล็บญี่ปุ่นตอนนี้ก็ดีตรงที่สามารถใช้เงินแก้ปัญหาได้ แต่สำหรับนักศึกษาในเมืองไทยในปัจจุบัน ซึ่งก็ชอบทำงานที่บ้าน ทำให้รู้สึกว่ายังไม่เกิดบรรยากาศในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเท่าที่ควร ตอนนี้ก็พยายามหาทางให้เขามาทำงานที่ห้องที่จัดไว้ให้ โดยพยายามจะไม่บังคับ แต่ก็ยังคงเป็นเรื่องที่ยากอยู่พอสมควร เนื่องจากเงินก็ไม่มี คอมพิวเตอร์ใหม่ๆ ก็ไม่มีให้ใช้ หรือมีก็ไม่ได้ใหม่ทุกเครื่อง ก็คงจะต้องหาทางกันต่อไป