เมื่อคืน (เขียนไว้ หลายอาทิตย์ก่อน จำวันไม่ได้แล้ว) ได้ดูรายการหลุมดำก่อนจบนิดหน่อย เป็นเรื่องเกี่ยวกับการใช้ภาษาของเด็กวัยรุ่นสมัยนี้ ก่อนอื่นขอออกตัวก่อนว่าโดยส่วนตัวก็ไม่ชอบการใช้ภาษาแปลกๆ พวก "ทามมาย" หรือ "ยางงาย" จะไม่มีความพยายามที่จะอ่านข้อความแบบนี้เกินสองบรรทัด และปัจจุบันก็ยังรู้สึกตะขิดตะขวงใจเสมอ เวลาผู้ประกาศข่าวกีฬาพูดว่า "มีการแข่งขันทั้งหมด 4 ชนิดกีฬา" แทนที่จะพูดว่า "มีการแข่งขันกีฬาทั้งหมด 4 ชนิด" นอกจากนี้ก็รู้สึกสนับสนุนความพยายามรณรงค์การใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง
แต่เมื่อดูรายการช่วงสุดท้ายเมื่อคืนนี้ ก็ยังมีความเห็นที่แตกต่าง เมื่อได้ยินคำพูดของอาจารย์เจ้าของโครงการหมอภาษา ซึ่งพูดประมาณว่า เราจะต้องรณรงค์การใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง เพราะไม่อย่างนั้นเราจะสูญเสียเอกลักษณ์ของชาติ หรือแม้กระทั่งเสียชาติ ฟังแล้วก็รู้สึกไม่เห็นด้วยก็เพราะส่วนตัวคิดว่าภาษาคือเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารของมนุษย์ มันควรจะถูกปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับความต้องการและความพอใจของผู้สื่อสาร ไม่ใช่ว่าหลักภาษานั้นจะต้องถูกเคารพบูชาเป็นดั่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ห้ามละเมิด ห้ามแก้ไขหรือดัดแปลง จากอดีตถึงปัจจุบันภาษาไทยนั้นก็ใช่ว่าจะคงอยู่ตามหลักที่คนทุกวันนี้ถือว่าถูกต้อง ถ้าอย่างนั้นเราก็ควรจะใช้ว่า "เปน" เหมือนภาษาไทยเมื่อประมาณร้อยปีก่อน หรือเราก็ไม่ควรจะกำหนดหลักการ "กร่อนเสียง" ว่าเป็นหลักภาษาไทยที่ถูกต้อง อย่างเช่น "ตะวัน" ก็ควรจะกลับไปใช้อย่างเดิมว่า "ตาวัน" เพราะให้ความหมายที่ถูกต้องชัดเจนกว่า ใครจะรู้ว่าตะวันอาจจะเกิดจากความคนองปากของใครซักคนในสมัยก่อนก็ได้ หรือคำที่ออกเสียงแบบควบไม่แท้อย่างคำว่า "จริง" ผมก็เดาว่าเดิมอาจจะออกเสียงว่า "จะ-หริง" เหมือนอย่าง จรัส หรือ จริต แต่คงจะเกิดความไม่ถนัด หรือเกิดความนิยมอะไรบางอย่าง ทำให้กลายเป็นออกเสียงว่า จิง ไปในที่สุด
ผมคิดว่ายังไงภาษาไทยก็ยังคงเป็นภาษาไทยอยู่วันยังค่ำ คนไทยคงจะใช้ภาษาไทยไปอีกนาน แต่อีกร้อยปีข้างหน้าภาษาไทยคงไม่เหมือนเดิม ต่อไปเราอาจจะมี "ทามมาย" อยู่ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตฯ ก็ได้ ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องที่เราจะต้องโวยวายว่าเป็นภาษาวิบัติ เพราะถ้าภาษาไทยยังทำหน้าที่เพื่อการสื่อสารได้ ก็น่าจะเพียงพอแล้ว ผมว่าสิ่งที่เราควรทำคือรณรงค์การใช้ภาษาที่ถูกต้อง แล้วก็แนะนำให้เหตุผลว่าทำไมเราควรจะใช้ภาษาที่ถูกต้องตามหลัก ส่วนต่อไปจะเป็นยังไงนั้น ก็คงต้องปล่อยไปตามธรรมชาติ