สัปดาห์ก่อนมีโอกาสดูหนังเรื่องALWAYS 三丁目の夕日 บนเครื่องบิน หลังจากอยากดูมานาน ด้วยความที่มีนักศึกษาคนหนึ่งแนะนำ แล้วก็ยังไปอ่านคำเชิญชวนในหนังสือพิมพ์มาอีก
ALWAYS 三丁目の夕日 (ซังโจเมะโนะยูฮิ) เป็นหนังแบบเรียบๆ ง่ายๆ ขนาดที่ว่าถ้าเห็นใบปิดหนังก่อน ก็คงไม่เลือกดูหนังเรื่องนี้ เพราะทำเป็นรูปเชยๆ เหมือนใบปิดหนังสมัยโบราณ ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะหนังเรื่องนี้ เป็นเรื่องราวชีวิตประจำวันของคนญี่ปุ่นเมื่อเกือบหกสิบปีที่แล้ว บทกล่าวถึงปีโชวะที่ 33 (พ.ศ.2504) หลังจากญี่ปุ่นแพ้สงครามไป 13 ปี เป็นช่วงที่ญี่ปุ่นกำลังเริ่มสร้างตัวอีกครั้ง ชีวิตผู้คนในญี่ปุ่นยังไม่สุขสบายเป็นในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ยังคงต้องปากกัดตีนถีบ แต่อุตสาหกรรมหลายๆ ส่วนก็เริ่มก้าวหน้า เริ่มมีเศรษฐีใหม่ มีตึกใหญ่ๆ เกิดขึ้นหลายแห่ง เรื่องราวหลักของหนังเรื่องนี้ พูดถึงตัวละครต่างๆ ที่เป็นสมาชิกของชุมชนเล็กๆ แห่งหนึ่งในโตเกียว ที่ต้องต่อสู้กับปัญหาต่างๆ ชีวิตที่แตกต่างกันไป แต่สิ่งที่ทุกคนมีร่วมกันก็คือความหวัง ที่คิดว่าสิ่งต่างๆ กำลังเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี
หนังเรื่องนี้แม้จะไม่มีพระเอก หรือนางเอกเด่นๆ เป็นตัวละครหลักของเรื่อง แต่บทซึ่งเป็นจุดเด่นที่สุด ก็สามารถส่งเสริมให้ทุกคนกลายเป็นตัวเอก สามารถนำเรื่องราวเล็กๆ หลายๆ เรื่องเข้ามาปะติดปะต่อกันเป็นเรื่องราวที่สนุกสนาน และเพลิดเพลิน สร้างประทับใจให้กับคนดูได้ดี โดยไม่จำเป็นต้องสร้างความตื่นเต้น หรือเอาเทคนิคพิสดารอะไรเข้ามาช่วย ขอเพียงแค่มีบทที่น่าสนใจ และดำเนินไปอย่างสมเหตุสมผลก็เพียงพอแล้ว (สมเหตุสมผลที่ว่านี้ ไม่ได้แปลว่าจะเป็นเรื่องเกินจริงไม่ได้ แต่ถ้าจะเป็นจินตนาการ ก็ควรจะเป็นจินตนาการแบบที่มีเหตุผล) แต่ใช่ว่าหนังเรื่องนี้จะไม่ใช่เทคนิคอะไรเลย เพราะการจะสร้างญี่ปุ่นเมื่อเกือบห้าสิบปีที่แล้วขึ้นมาให้สมจริง ก็คงจะต้องอาศัยเทคนิคต่างๆ ไม่น้อย โดยสรุปแล้วเรื่องนี้เป็นหนังที่น่าสนใจ และแนะนำให้ลองไปหากันมาดู
ก่อนจบขอวกเข้ามาเรื่องการเมืองเกี่ยวกับสงครามโลกหน่อย เพราะวันนี้มีข่าวว่านายกฯ ญี่ปุ่นเดินทางไปสักการะศาลเจ้ายาสุคุนิ ในวันสิ้นสุดสงครามโลก ซึ่งก็คงจะเป็นครั้งสุดท้ายในฐานะนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นเพราะโคะอิซึมิ แกจะวางมือทางการเมืองในเดือนหน้านี้แล้ว เห็นข่าวแล้วก็เดาได้ทันทีว่าจีน และเกาหลีใต้คงจะประท้วงอย่างเต็มที่ เพราะศาลเจ้าแห่งนี้ตั้งขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ทหารญี่ปุ่นที่เสียชีวิตในช่วงสงครามโลก รวมถึงบรรดานายพลต่างๆ ที่ถูกประหารชีวิตในฐานะอาชญากรสงคราม โดยส่วนตัวแล้วก็ไม่ได้รู้สึกคัดค้านนายกฯ ญี่ปุ่นเท่าไรนัก เพราะมองอีกแง่หนึ่งถึงเขาจะเป็นอาชญากรสงคราม ทำความเลวร้ายไว้มากมาย แต่คนเหล่านั้นก็คือคนที่เสียชีวิตเพื่อญี่ปุ่น แต่สงสัยว่าทำไมญี่ปุ่นไม่ทำเรื่องพวกนี้ให้มันเรียบร้อยไป ทั้งๆ ที่สงครามก็ผ่านมาหกสิบกว่าปีแล้ว ถ้าหากญี่ปุ่นจะกล่าวคำขอโทษต่อชาติต่างๆ อย่างจริงใจ แล้วก็ทิ้งทุกอย่างไว้เบื้องหลัง ญี่ปุ่นก็คงจะไม่มีชนักติดหลังอย่างทุกวันนี้ (แต่ไม่นานมานี้ก็มีข่าวว่าญี่ปุ่นเคยจะกล่าวคำขอโทษจีนสมัยนายกโอบุชิ แต่จีนไม่ยอม ไม่รู้ว่าเป็นเรื่องจริงแค่ไหน) ุ
2 comments:
มีคำถามค่ะ
ทำไมแค่ไปสักการะศาลเจ้าอะไรซักอย่างนี่ เป็นเรื่องคัดค้านกันระดับชาติเลยหรอคะ??
ไม่เห็นน่าแปลกเลย ที่ลูกหลานในชาติจะไปทำการเคารพสักการะบรรพบุรุษที่อุทิศตัวเองเพื่อชาติ ถึงแม้ว่ามันจะเลวร้ายต่อชาติอื่นๆในโลกก็ตาม ไม่ใช่นายกจีนมาสักการะซะหน่อยหนินา
เนื่องจากว่าเป็นศาลเจ้าที่ตั้งขึ้นเพื่ออุทิศแก่วิญญาณทหารญี่ปุ่น ซึ่งทำหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับทารุณกรรมคนจีน และคนเกาหลีไว้เป็นจำนวนมาก ญาติพี่น้องหรือคนที่รับรู้เหตุการณ์ก็ยังมีอยู่เยอะ เลยยังมีความโกรธแค้นอยู่ จนกระทั่งไม่อยากให้วิญญาณเหล่านั้นได้รับการเคารพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไปเคารพในฐานะนายกฯ ญี่ปุ่น ก็เหมือนกับว่าญี่ปุ่นจะรื้อฟื้น จะกลับไปเป็นแบบสมัยสงครามโลกอีก (สำหรับไทยอาจจะดีหน่อย ที่ดูเหมือนทหารญี่ปุ่นที่มายึดไทยในสมัยนั้น จะเป็นกองกำลังที่ถูกเกณฑ์มาจากคนอาชีพอื่นๆ ทำให้ไม่โหดร้ายเท่ากับทหารที่ส่งไปยึดจีนกับเกาหลี เราเลยยังมีนิยายเรื่องคู่กรรมได้)
ส่วนนายกฯญี่ปุ่นก็พยายามอธิบายแบบนั้นแหละ ว่าเพียงต้องการไปเคารพบรรพบุรุษที่อุทิศเพื่อชาติ ไม่ได้ต้องการจะกลับไปเป็นแบบเดิม แต่ในทางปฏิบัติก็ยังตรงข้ามกับคำพูดอยู่ เพราะนายกฯคนนี้พยายามจะแก้รัฐธรรมนูญให้ญี่ปุ่นกลับมามีทหารอีกครั้งหนึ่ง ตอนนี้ญี่ปุ่นมีเพียงกองกำลังป้องกันตนเอง ต่างจากทหารตรงที่มีกฎว่าเขาจะไม่ยิงใครก่อน แค่ป้องกันตนเองหลังจากถูกทำร้ายแล้วเท่านั้น
Post a Comment