27 October 2006

Presentation

ช่วงนี้ปิดเทอม มีเวลาว่างเยอะขึ้น จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะเตรียมการสอนสำหรับเทอมหน้าไว้ก่อน เพราะเปิดเทอมแล้วจะมีเวลาเตรียมน้อยลง ยิ่งเตรียมแบบอาทิตย์ต่ออาทิตย์ ก็จะไม่ได้เอกสารหรือสไลด์ประกอบการสอนที่ดีนัก ที่นี้ก่อนจะเตรียมการสอนก็ไปลองหาดูก่อนว่าจะใช้โปรแกรมอะไรทำสไลด์ดี ปัญหาที่สำคัญที่ทำให้ไม่ชอบใช้โปรแกรมสร้าง Presentation สำเร็จรูปอย่าง MS Powerpoint หรือ Apple Keynote ก็คือ สไลด์สำหรับการสอนวิชาทางคอมพิวเตอร์นั้น จะต้องมีสมการคณิตศาสตร์อยู่ที่เป็นจำนวนมาก ซึ่งโปรแกรมส่วนใหญ่จะไม่ได้สนับสนุนอย่างเต็มที่ เช่น จะต้องใช้โปรแกรมต่างหากในการพิมพ์สมการ (MS Office เตรียมมาให้แล้ว ส่วน Keynote ก็ต้องใช้โปรแกรมสร้างสมการจาก LaTeX เช่น LaTeXiT) เสร็จแล้วค่อยตัดเข้ามาแปะในสไลด์อีกที แถมบางครั้งก็ต้องเว้นที่ไว้ เพื่อให้แปะสมการลงในข้อความได้พอดี แต่ก็ยังมีปัญหาอยู่ เช่น ถ้าเปลี่ยนขนาดสไลด์ก็ต้องมาขยับพวกสมการใหม่หมด ทำให้เสียเวลาและแรงงานมาก

เทอมที่ผ่านมาก็เลยเปลี่ยนมาใช้ LaTeX (beamer -- คนเยอรมันมักจะใช้คำนี้เรียก projector ได้ยินครั้งแรกเล่นเอางง) ทำสไลด์ประกอบการสอนซึ่งทำให้ทำงานง่ายขึ้นเยอะ เพราะสามารถแทรกสมการเข้าไปในข้อความได้เลย สมการที่ได้ก็หน้าตาดีกว่า Equation Editor ที่มากับ MS Office เยอะ แต่จุดอ่อนของ beamer ก็คือ ปรับแต่งหน้าตาสไลด์ยาก หรือถ้าต้องการใส่อะไรแปลกๆ ลงไป ก็ต้องเสียเวลาไปหา package อื่นๆ ของ LaTeX มาลงเพิ่ม คราวนี้เปิดเทอมใหม่ก็เลยคิดจะหาวิธีการทำสไลด์แบบใหม่

อันแรกที่เจอคือ ConTeXt ซึ่งเป็น macro สำหรับ TeX เช่นเดียวกับ LaTeX แต่ต่างตรงที่ ConTeXt เน้นที่ความสะดวกในการปรับแต่งเอกสาร คือ ไม่ได้แยกส่วนจัดการหน้าตาเอกสารออกเป็น style file แบบ LaTeX แถมยังมีคำสั่งพื้่นฐานเพื่อปรับแต่งทุกๆ ส่วนได้ง่าย ทำให้เหมาะกับการเขียนเอกสารที่ไม่ได้มีรูปแบบที่กำหนดไว้แล้วเหมือน LaTeX ผู้ใช้สามารถเปลี่ยนแปลงหน้าตาได้ไม่ยาก ฉะนั้นเราจึงสามารถปรับ ConTeXt ให้เหมาะสำหรับสร้างสไลด์ได้ไม่ยากมากนัก แต่ข้อเสียของ ConTeXt คือยังมีกลุ่มผู้ใช้น้อย เอกสารหรือเว็บที่เกี่ยวข้องก็ยังไม่เยอะ และปัญหาหลักก็คือคำสั่งคล้ายกับ LaTeX เยอะเกินไป ทำให้สับสนง่าย โดยเฉพาะเวลาที่ยังไม่ชิน บวกกับการที่ ConTeXt ไม่ได้มี package ที่ออกแบบมาเพื่อการทำสไลด์โดยเฉพาะ ทำให้ขาดฟีเจอร์หลายๆ อย่าง สุดท้ายเลยตัดสินใจที่จะยังไม่ใช้

ต่อมาก็เริ่มหันมาทาง html เพิ่งไปเจอว่ามีคนทำ stylesheet และ javascript สำหรับการนำเสนองานโดยเฉพาะชื่อ S5 เท่าที่ดูก็น่าสนใจ แต่ติดปัญหาเดิมคือสมการคณิตศาสตร์ ถึงแม้ว่าตอนนี้ firefox/mozilla จะสนับสนุน mathml แล้ว แต่ภาษามันดูยุ่งยากชอบกล แถมยังมี bug อยู่บางกับเวอร์ชันบน Mac

สุดท้ายกลับไปตายรัง ขอใช้ beamer ต่อไปอีกเทอมหนึ่งก่อนละกัน

No comments: