22 June 2005

สลับ Ctrl กับ Caps Lock

เนื่องจากตอนนี้ติดนิสัยใช้สลับปุ่ม Ctrl กับ Caps Lock ซึ่งเป็นไปตามแบบของเครื่อง Sun โดยปุ่ม Ctrl อยู่เหนือ Shift ทำให้กดได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องแยกนิ้วห่างมาก ใช้แบบนี้มาตลอดตั้งแต่ไปอยู่ญี่ปุ่น จนกระทั่งซื้อ Happy Hacking Keyboard มาใช้ ก็ยังเป็นแบบนั้น ประกอบกับบน X ก็มีวิธีสลับปุ่ม Ctrl กับ Caps Lock ได้ง่ายๆ ก็จะเลือกสลับปุ่มไว้เสมอ พอมาใช้ Powerbook ปุ่ม Ctrl ก็วางเหนือ Shift เหมือนกัน ทำให้ใช้มาตลอดจนติด เรียกว่าไปใช้เครื่องคนอื่นทีไร จะต้องกดผิดเป็นประจำ ช่วงนี้มีงานบางอย่าง ทำให้ต้องใช้วินโดวส์บ่อยๆ ก็เลยต้องหาวิธีสลับปุ่ม Ctrl กับ Caps Lock บนวินโดวส์ เจอวิธีหนึ่ง แก้ไม่ยาก เพียงแค่แก้ไขค่าใน regedit ลองทำแล้วบูตใหม่ ก็สลับปุ่มได้ตามต้องการ

ดีที่สุด

เมื่อวานโดนถามว่า "อะไรดีกว่ากันระหว่างแมคกับวินโดวส์ ?" เนื่องจากคนถามเห็นว่าใช้แมคอยู่ ฟังคำถามแล้วไม่รู้จะตอบยังไงเหมือนกัน เพราะโดยส่วนตัวแล้วไม่เชื่อว่ามีอะไรที่ดีที่สุด โดยไม่มีข้อเสีย หรือว่ามีจุดอ่อนเลย ทุกสิ่งล้วนมีจุดแข็งและจุดอ่อนกันทั้งนั้น มันคงจะเสียเวลาเปล่า ถ้าเราจะมานั่งเถียงกันเอาเป็นเอาตายว่า อินเทลหรือเอเอ็มดีเจ๋งกว่ากัน โอเอสอะไรดีที่สุด หรือแม้กระทั่งสถาบันไหนเจ๋งที่สุด เพียงแค่เราหยิบเอาสิ่งเหล่านั้นมาใช้งาน ให้เหมาะกับลักษณะการทำงาน หรือลักษณะความถนัดก็คงจะเพียงพอแล้ว แต่อย่างไรก็ดี ก็ยังไม่เห็นด้วยอยู่ดี ถ้าจะยึดแต่เสียงส่วนใหญ่ หรือพยายามยัดเยียดให้คนส่วนน้อยทำตามคนส่วนใหญ่ โดยอ้างว่ามันเป็นมาตรฐาน

สุดท้ายก็ตอบคำถามนั้นไปสั้นๆ ว่า "ก็คงไม่มีอะไรดีที่สุดหรอกมั้ง"

17 June 2005

Ubuntu 5.04 Live PowerPC

ตอนนี้ใช้ Powerbook มาได้เกือบปีแล้ว (เหลืออีกสองเดือนมั้ง) ก็ยังพอใจ แต่มีความสุขกับการใช้งาน OS X ซึ่งผสมผสาน Unix กับ User Interface ได้ดี และเป็น OS ที่ไม่เคยมีปัญหาใดๆ แต่เนื่องจากว่าตอนนี้ไม่มีเครื่อง PC ในที่พัก ทำให้ต้องเปิด Powerbook ขึ้นมาทำงานตลอด และบางครั้ง ก็อยากจะทดลองอะไรบางอย่างกับ Linux ก็ไม่สามารถทำได้ เลยอยากจะลง Linux บน Powerbook แต่เนื่องจากไม่ได้เตรียมพาร์ติชัน (หมายเหตุ: คำนี้เป็นคำที่เริ่มใช้โดย Microsoft ปัจจุบัน FreeBSD ยังคงยืนยันที่จะเรียกว่า Slice เหมือนเดิม) ถ้าคิดจะลง Linux ก็ต้องลง OS X ใหม่ทั้งหมดด้วย เพราะต้องจัดการแบ่งเนื้อที่ใหม่หมด ด้วยความขี้เกียจ บวกกับความจำเป็นที่จะต้องใช้งาน Powerbook ตลอดเวลา ทำให้ไม่สามารถแบ่งเนื้อที่ได้ โครงการนี้ก็เลยต้องพับไปก่อน

เมื่อวานอ่านข่าวไปมา เจอข่าวว่า Gnoppix ซึ่งเป็นดิสตริบิวชันแบบ Live ทำงานโดยตรงจากแผ่นซีดี โดยไม่ต้องติดตั้งโปรแกรมบนฮาร์ดดิสก์ ออกเวอร์ชันใหม่ และรู้สึกว่าเวอร์ชันนี้ จะใช้ Ubuntu เป็นพื้นฐาน ก็เลยเกิดความคิดว่าจะเอามาลองดู พอเข้าไปดูปรากฏว่า Gnoppix ออกเฉพาะ x86 ไม่สามารถเอามาใช้บน PowerPC ได้ เลยต้องหันไปหา Ubuntu แทน เนื่องจาก Ubuntu มีรุ่น Live ให้ทดลองใช้งานอยู่แล้ว จากนั้นก็ตั้งหน้าตั้งตาโหลดซีดีมาใช้งาน แต่เนื่องจากเน็ตของสถาบันไม่เร็วมากนัก ก็เลยต้องรอๆๆ จนกระทั่งเมื่อเช้านี้ก็ได้ ISO ของ Ubuntu 5.04 Live สำหรับ PowerPC มาเป็นที่เรียบร้อย และหลังจากเขียนลงแผ่น แล้วก็ restart เครื่อง Powerbook โดยกดปุ่มตัว C ค้างไว้ เพื่อให้บูตจากซีดี ก็จะบูตเข้าไปยัง Ubuntu เป็นที่เรียบร้อย เริ่มต้นต้องกำหนดค่าต่างๆ ของเครื่องก่อน จากนั้นก็จะเข้าสู่ Gnome ให้โดยอัตโนมัติ หน้าตาเหมือน Ubuntu ที่ใช้อยู่บนพีซีอย่างกับแกะ เจ๋งจริงๆ พวกฮาร์ดแวร์ต่างๆ ก็ทำงานได้เรียบร้อย ทั้ง touchpad และเมาส์ ที่ต่อเข้าไปเพิ่มก็ใช้งานได้ดี ขาดอย่างเดียวคือการต่อกับจอภาพภายนอก ซึ่งคิดว่าอาจจะต้องกำหนดค่าต่างๆ เอง สุดท้ายก็เลยลองเปิด Firefox ขึ้นมาดูเล่น ก็ใช้งานได้ดี ส่วนในแง่ความเร็ว ก็ไม่เร็วมากนัก เนื่องจากทำงานจากซีดี คิดว่าถ้าติดตั้งลงฮาร์ดดิสก์ คงจะเร็วกว่านี้เยอะ ทำให้เกิดความขยันขึ้นเล็กน้อย ที่จะลง OS X ใหม่ เพื่อให้ลง Linux ได้ด้วย

ดิสตริบิวชันแบบ Live นี่ก็จัดว่าเป็นวิธีการแก้ปัญหาคนที่ไม่อยากจะเปลี่ยนมาใช้ Linux ได้ดีเหมือนกันนะ เพราะสามารถทดลองอะไรได้ก่อนที่จะตัดสินใจเปลี่ยนจริงๆ ทำให้ไม่จำเป็นต้องตัดสินใจประมาณว่าจะขอไปตายกับดาบหน้า แล้วก็ทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีกับ Linux เนื่องจากความไม่สมบูรณ์ หรือการไม่สนับสนุนฮาร์ดแวร์บางส่วน

15 June 2005

五月病

ตอนนี้เริ่มสงสัยว่าตัวเองจะเป็นโรค 五月病 เข้าแล้ว แม้ว่าจะเป็นในบางเวลา เพราะตอนนี้กลับมาใช้ชีวิตในเมืองไทยได้สองเดือนแล้ว สิ่งต่างๆ เริ่มเข้าทีเข้าทาง มีงานทำประจำแล้ว และต้องเริ่มทำงานจริงๆ จังๆ นอกจากนี้ก็ยังรู้สึกว่า เริ่มไม่มีอะไรแปลกใหม่ให้ตื่นเต้นอีกแล้ว ทำให้เริ่มคิดถึงชีวิตในช่วงที่อยู่ในญี่ปุ่น เริ่มคิดถึงรายการทีวีที่เคยดูเป็นประจำ เริ่มคิดถึงวิธีการดำเนินชีวิตที่ดูเหมือนจะซับซ้อนน้อยกว่าปัจจุบัน และอยากกลับไปขี่จักรยาน ถ่ายรูปตามฤดูกาล เหมือนที่เคยทำเป็นประจำ เริ่มอยากกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมที่ทำมาตลอด 6 ปี แต่ยังไงก็เลือกแล้วล่ะ ว่าจะอยู่เมืองไทย คงต้องพยายามสลัดความคิดเหล่านี้ออกไปให้หมด นี่อาจจะเป็นเพราะเรายังไม่มีงานอดิเรกเป็นชิ้นเป็นอันทำในเมืองไทย เรายังแค่ตื่นเช้ามาทำงาน พอเลิกงานก็หาข้าวกินแล้วก็กลับหอพัก พอถึงวันหยุดก็ขับรถกลับบ้านที่ต่างจังหวัด ทุกอย่างดูเป็นระบบระเบียบไปซะหมด สงสัยจะต้องเริ่มได้เวลาหาอะไรแปลกๆ ใหม่ๆ ทำบ้างแล้ว

อ้อ สิ่งหนึ่งที่อาจจะเป็นสาเหตุให้คิดถึงญี่ปุ่น ก็เพราะเรายังคงดูรายการทีวีญี่ปุ่นผ่านทาง UBC แต่ต้องดูเป็นภาษาไทยแล้วรู้สึกแปลกๆ รู้สึกว่าไม่สนุกเท่าเดิม ครั้นจะเลือกเป็นภาษาญี่ปุ่นก็ไม่ให้เลือก ไม่รู้ทำไม (อาจเป็นเพราะระบบของหอพัก) เลยทำให้อยากหวนไปฟังภาษาญี่ปุ่นแบบเดิมอีกครั้ง

หมายเหตุ: 五月病 (Go-gatsu-byou - โรคเดือนห้า) เป็นอาการมักจะเกิดจากขึ้นเมื่อต้องปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ๆ โดยเฉพาะกับคนที่เริ่มทำงานใหม่ หรือนักเรียนที่เปลี่ยนที่เรียนใหม่ ทำให้ต้องปรับตัว โดยจะมีอาการคือ ไม่มีอารมณ์หรือใจในการทำสิ่งใดๆ รู้สึกไม่อุ่นใจ หรืออาจจะรุนแรงถึงขั้นนอนไม่หลับ รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่อยากทำงาน ในญี่ปุ่นอาการเหล่านี้มักจะเกิดในช่วงเดือนพฤษภาคมหลังจากวันหยุดยาวในช่วงต้นเดือน จึงเป็นที่มาของชื่ออาการนี้

ตามรอยพระพุทธเจ้า

ช่วงนี้กำลังติดตามรายการใหม่ของ ModerNine TV ซึ่งเริ่มออกอากาศเมื่อวันอังคารที่แล้ว (7 มิ.ย.) ตอนสองทุ่มครี่ง โดยเป็นรายการสารคดี ผลิตโดยบริษัท Panorama เรื่อง ตามรอยพระพุทธเจ้า ซึ่งมีเนื้อหาหลักเกี่ยวข้องกับพุทธประวัติ โดยเดินทางไปถ่ายทำกันที่ชมพูทวีป (อินเดีย เนปาล และอื่นๆ) อย่างตอนแรกก็มีการท้าวความถึงสภาพสังคมในสมัยนั้น ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะประสูติ โดยเน้นไปที่เรื่องของศาสนาพราหมณ์ ที่มีการแบ่งคนออกเป็นวรรณะต่างๆ จากนั้นก็โยงไปถึงแม่น้ำคงคา ซึ่งถือว่าเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ว่ามีความเป็นมาอย่างไร มีการพาไปดูต้นกำเนิดของแม่น้ำคงคา ซึ่งเกิดจากการละลายของน้ำแข็ง บนเทือกเขาหิมาลัย เห็นต้นกำเนิดของแม่น้ำคงคาแล้ว ก็เห็นความยิ่งใหญ่เลย เพราะแม่น้ำคงคานั้นไหลออกมาจากถ้ำน้ำแข็งขนาดมหึมา ซึ่งถ้าใครได้เห็นก็ต้องเชื่อว่าเป็นแม่น้ำแห่งพระเจ้าจริงๆ

ส่วนตอนที่สองเมื่อวานนี้ ก็เน้นเรื่องสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า มีการพาไปชมสวนลุมพินี แล้วเมืองโบราณซึ่งคาดว่าจะเคยเป็นที่ตั้งของกรุงกบิลพัสด์ นอกจากนี้ยังมีการวาดแผนที่เชื่อมโยงสถานที่สำคัญต่างๆ ในพุทธประวัติ รวมทั้งพูดถึงความเป็นมา หรือวิธีการทางโบราณคดี เพื่อค้นหาสถานที่สำคัญต่างๆ โดยเชื่อมโยงกับพระเจ้าอโศกมหาราช ผู้ทรงสร้างเสาอโศกไว้เป็นสัญลักษณ์ ณ สถานที่สำคัญ

ดูแล้วสารคดีเรื่องนี้ ผมคิดว่าเป็นสารคดีที่ผลิตโดยคนไทยที่ยอดเยื่ยม ภาพก็สวย เนื้อหาก็น่าสนใจ มีการค้นคว้าที่ดี แม้ว่าบางส่วนอาจจะเป็นเพียงข้อสันนิษฐาน แต่ก็เป็นไปตามการศึกษาทางโบราณคดี นอกจากนี้เขาไม่ได้เน้นที่ศรัทธาเป็นหลัก แต่ดูแล้ว มีความรู้สึกแง่ว่าพระพุทธองค์ท่านเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับเรา ท่านมองเห็นความเป็นไปต่างๆ ในสังคม เห็นความทุกข์ต่างๆ ในชีวิต จึงทรงแสวงหาทางแก้ปัญหาของชีวิต และสังคม แต่ก็ขอติเล็กน้อยในส่วนของคำ หรือการใช้ภาษาต่างๆ บางครั้งยังรู้สึกห้วนๆ หรือดูไม่สละสลวยมากนัก ถ้าแก้ตรงนี้อีกนิดเดียวคงจะเป็นสารคดีที่ดีมากๆ แต่อย่างไรก็ดี ถ้าทำเป็น VCD หรือ DVD ขายเมื่อไหร่ ก็จะต้องไปหาซื้อมาเก็บไว้

ทดสอบ Drivel

ทดสอบโพสต์จาก Drivel ที่แก้ไขแล้ว

หลังจากที่เมื่อวานทดลองใช้ Drivel รุ่น 2.0 ซึ่งสนับสนุน Atom API หรือ Blogger 2.0 ในการติดต่อกับเซิร์ฟเวอร์ แล้วพบปัญหาว่าไม่สามารถใช้งานภาษาไทยได้ เนื่องจากข้อมูลทั้งหมดถูกเปลี่ยนไปอยู่ในรูป character entity เช่น &xE49; ทำให้อ่านไม่ออก แก้ไขไม่ได้ วันนี้เลยลองเอาซอร์สของ Drivel มาแกะดู ก็พบว่าข้อมูลที่ส่งมาจาก blogger ก็ถูกต้องดี ปัญหาเกิดขึ้นตอนแปลงข้อมูล ซึ่งใช้ libxml2 โดยใช้ฟังก์ชัน xmlDocNew และ xmlDocDumpFormatMemory เพื่อสร้างเอกสาร xml ตัวใหม่ แล้วปรากฏว่าไม่ได้กำหนดวิธีการเข้ารหัสตัวอักษรที่ถูกต้อง (เดาว่าค่าปริยายคงจะเป็น us-ascii) ทำให้มีการแปลงข้อมูลทั้งหมดให้อยู่ในรูป character entity เพื่อให้สอดคล้องกับวิธีการเข้ารหัส การแก้ไขก็ทำได้ง่ายมากๆ เพียงแค่เพิ่ม

content->encoding = xmlStrdup("UTF-8");

ทุกอย่างก็จะเรียบร้อย เนื่องจากกำหนดให้เป็น UTF-8 แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องแปลงข้อมูลอีก เสร็จแล้วคงจะต้องไปรายงานบักอีกทีจึงจะสมบูรณ์

หมายเหตุ: ตอนนี้ยังพบว่าไม่สามารถแก้ไขข้อมูลที่แปะไปแล้วได้ แต่ดูเหมือนว่าไม่ได้เกิดจากส่วนที่แก้ไข เพราะถึงไม่แก้ก็มีปัญหาอยู่ดี ไม่รู้ว่าเกิดจากส่วนไหน มีปัญหาี่ตัวเซิร์ฟเวอร์ หรือว่าเป็นที่ proxy ที่ใช้งานอยู่ คงต้องเอาไปลองที่อื่นก่อน

14 June 2005

Drivel 2.0

วันนี้เห็นแว่บๆ ใน Gnomefiles.org ว่า Drivel ออกรุ่นใหม่ (รุ่น 2.0) เลยไปเอามาลองสักหน่อย Drivel เป็นโปรแกรมสำหรับจัดการ blog ทำให้เราสามารถเขียนข้อความใหม่ได้โดยไม่จำเป็นต้องเข้าไปที่เว็บของ blog ทำให้สามารถใช้งานได้สะดวก แต่เดิม Drivel สนับสนุนเฉพาะ Livejournal แต่รุ่นใหม่นี้สนับสนุน blogger ที่ใช้อยู่ด้วย เลยต้องไปเอามาลองซักหน่อย แต่เนื่องจากว่าตอนนี้ใช้ hoary อยู่ซึ่งคงไม่ปรับปรุงแพคเกจเป็นรุ่นใหม่ให้ (มีเฉพาะรุ่น 1.2.3) เลยต้องไปหาเอาเองจาก google.com แล้วก็เจอคนทำแพคเกจไว้เหมือนกัน เพียงแค่โหลดมา แล้วก็ติดตั้งด้วยคำสั่ง

$ sudo dpkg -i drivel_2.0.0-1_i386.deb

ก็เป็นอันเรียบร้อย ข้อความนี้ก็ลองเขียนผ่าน Drivel ดู

หมายเหตุ: รู้สึกจะมีข้อจำกัดตรงที่ ไม่สามารถจัดการหัวข้อได้ คงเนื่องมาจากข้อจำกัดของ API ของ blogger ถ้าจะใส่หัวข้อก็ต้องเข้าเว็บไปแก้เอาเอง

เพิ่มเติม: กลายเป็นว่าเลือกผิดเอง เพราะถ้าเลือกใช้ Atom หรือ Blogger 2.0 ก็จะสามารถจัดการหัวข้อได้ แต่ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง คือ blogger ส่งข้อมูลมาในรูป character entity เช่น อ ทำให้อ่านไม่ออก คงต้องหาวิธีแก้ต่อไป

Adobe Acrobat Reader 7.0 Japanese Edition for Linux

จั่วหัวซะยาวเลย แค่ต้องการจะเขียนว่าเจอข่าวว่า Adobe ออก Adobe Acrobat Reader โปรแกรมสำหรับเปิดไฟล์ PDF รุ่นภาษาญี่ปุ่น สำหรับ Linux แล้ว หลังจากปล่อยให้รออยู่ตั้งนาน เนื่องจากสองอาทิตย์ก่อน อยากจะพิมพ์เปเปอร์ภาษาญี่ปุ่นออกมาอ่านแล้วมีปัญหากับ Xpdf คือดูบนจอก็อ่านได้ปกติดี แต่พอสั่งพิมพ์แล้วมันไม่ยอมแนบฟอนท์ไปให้ด้วย ทำให้พิมพ์ออกมาเป็นตัวอะไรก็ไม่รู้

เพิ่มเติม: ถึงจะใช้ Acrobat Reader แล้วก็ยังพิมพ์ได้ไม่เรียบร้อยอยู่ดี คือหน้าแรกๆ พิมพ์ได้ แต่หน้าหลังๆ ตัวอักษรส่วนใหญ่กลายเป็นเครื่องหมายกากบาท คาดว่าน่าจะเกิดจากหน่วยความจำของเครื่องพิมพ์ไม่เพียงพอ คงต้องหาทางแก้ไขต่อไป

13 June 2005

The Unhanded C Contest

ปกติเคยได้ยินแต่การแข่งกัน Obfuscated C Contest ที่แข่งกันเขียนโปรแกรมภาษา C ให้ดูยุ่งยากที่สุด หรืออ่านไม่รู้เรื่องที่สุด แต่ยังคงสามารถทำงานได้ตามปกติ หรือทำงานได้ตามที่กำหนด แต่วันนี้เจอข่าวใน /.jp เรื่องการประกวดเขียนโปรแกรมภาษา C เหมือนกัน มีชื่อว่า The Unhanded C Contest มีเป้าหมายที่ดูเผินๆ เหมือนจะอยู่ตรงข้ามกับ Obfuscated C Contest กล่าวคือต้องการให้เขียนโปรแกรมที่อ่านเข้าได้ง่ายที่สุด แต่ซ่อนหน้าที่การทำงานอื่นๆ ซึ่งจะมุ่งโจมตีเครื่อง ทำให้โปรแกรมนี้เป็นกลลวง เพราะซอร์สดูเข้าใจง่าย เหมือนไม่มีพิษสงอะไร แต่ซ่อนพิษร้ายกาจเอาไว้ และแต่ละปีเขาก็จะกำหนดหัวข้อ หรือประเภทของโปรแกรมที่แตกต่างกันไป

07 June 2005

Intel Mac

วันก่อนเคยเขียนถึงข่าวลือที่ Apple จะเปลี่ยนมาใช้โพรเซสเซอร์ของ Intel แทนที่จะใช้ PowerPC ของ IBM ต่อไปอย่างทุกวันนี้ แล้วก็คาดการณ์ผิดเพราะคิดว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ ปรากฏว่าวันนี้่เป็นความจริงแล้ว เมื่อวานสตีฟ จอบส์ออกมาประกาศแล้วว่า ตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไปจะออกเครื่อง Mac ที่ใช้ชิปของ Intel โดยคาดว่าจะเริ่มจาก Mac mini ก่อน

แต่หลังจากประกาศ รองประธานอาวุโสของ Apple ก็ให้ข่าวทันทีว่าถึงเครื่อง Mac จะใช้ชิปของ Intel แต่ก็จะไม่ขาย หรือไม่สนับสนุน Windows (ถ้าอยากจะใช้ก็ให้พยายามเอาเอง) และที่แย่ที่สุดคือ OS X จะทำงานเฉพาะเครื่อง Mac เท่านั้น ดับฝันที่เราจะไปซื้อ OS X มาใช้กับ PC ทั่วๆ ไป (แต่ก็ไม่แน่หรอก อะไรก็เกิดขึ้่นได้ หุๆๆ)

06 June 2005

Summer of Code

เพิ่งจะเห็นข่าวโครงการ Summer of Code ของ Google ซึ่งร่วมมือกับโครงการโอเพนซอร์สต่างๆ เสนอเงินรางวัล $4500 ให้กับนักเรียนที่ใช้เวลาว่างในช่วงปิดเทอมฤดูร้อน พัฒนาโปรแกรมโอเพ่นซอร์สต่างๆ ซึ่งแต่ละโครงการเป็นผู้กำหนดหัวข้อให้ ส่วน Google เป็นผู้สนับสนุนเงินรางวัล ดูแล้วแต่แนวคิดที่น่าสนใจทีเดียวสำหรับการดึงนักเรียนนักศึกษาให้เข้าร่วมกับโครงการต่างๆ

02 June 2005

Computex Taipei 2005

วันนี้นั่งอ่านรายงานบรรยากาศงาน Computex Taipei 2005 จาก ITmedia.co.jp งานนี้จัดว่าเป็นงานคอมพิวเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ข่าวที่ดังที่สุดในงานนี้น่าจะเป็นการเปิดตัวคอมพิวเตอร์ตัวใหม่ของ AOpen ที่ร่วมมือกับ Intel ให้ออกมาละม้ายคล้ายกับ Mac Mini เห็นว่าใช้ชิปเซ็ต Intel 915GM รองรับ Pentium M ได้ถึง 1.6 GHz และแบ่งเป็นหลายรุ่นตามโครงสร้าง ว่าจะมีแลนไร้สายหรือไม่ หรือว่าใช้ไดรว์ซีดี/ดีวีดีแบบไหน ส่วนราคาต่ำสุดอยู่ที่ 499 ดอลล่าร์ (ไม่ต่างจาก Mac Mini เท่าไหร่แฮะ) คาดว่าจะวางจำหน่าย (ในญี่ปุ่น) ประมาณปลายเดือนกันยา หรือเดือนตุลา