ตอนนี้ใช้ Powerbook มาได้เกือบปีแล้ว (เหลืออีกสองเดือนมั้ง) ก็ยังพอใจ แต่มีความสุขกับการใช้งาน OS X ซึ่งผสมผสาน Unix กับ User Interface ได้ดี และเป็น OS ที่ไม่เคยมีปัญหาใดๆ แต่เนื่องจากว่าตอนนี้ไม่มีเครื่อง PC ในที่พัก ทำให้ต้องเปิด Powerbook ขึ้นมาทำงานตลอด และบางครั้ง ก็อยากจะทดลองอะไรบางอย่างกับ Linux ก็ไม่สามารถทำได้ เลยอยากจะลง Linux บน Powerbook แต่เนื่องจากไม่ได้เตรียมพาร์ติชัน (หมายเหตุ: คำนี้เป็นคำที่เริ่มใช้โดย Microsoft ปัจจุบัน FreeBSD ยังคงยืนยันที่จะเรียกว่า Slice เหมือนเดิม) ถ้าคิดจะลง Linux ก็ต้องลง OS X ใหม่ทั้งหมดด้วย เพราะต้องจัดการแบ่งเนื้อที่ใหม่หมด ด้วยความขี้เกียจ บวกกับความจำเป็นที่จะต้องใช้งาน Powerbook ตลอดเวลา ทำให้ไม่สามารถแบ่งเนื้อที่ได้ โครงการนี้ก็เลยต้องพับไปก่อน
เมื่อวานอ่านข่าวไปมา เจอข่าวว่า Gnoppix ซึ่งเป็นดิสตริบิวชันแบบ Live ทำงานโดยตรงจากแผ่นซีดี โดยไม่ต้องติดตั้งโปรแกรมบนฮาร์ดดิสก์ ออกเวอร์ชันใหม่ และรู้สึกว่าเวอร์ชันนี้ จะใช้ Ubuntu เป็นพื้นฐาน ก็เลยเกิดความคิดว่าจะเอามาลองดู พอเข้าไปดูปรากฏว่า Gnoppix ออกเฉพาะ x86 ไม่สามารถเอามาใช้บน PowerPC ได้ เลยต้องหันไปหา Ubuntu แทน เนื่องจาก Ubuntu มีรุ่น Live ให้ทดลองใช้งานอยู่แล้ว จากนั้นก็ตั้งหน้าตั้งตาโหลดซีดีมาใช้งาน แต่เนื่องจากเน็ตของสถาบันไม่เร็วมากนัก ก็เลยต้องรอๆๆ จนกระทั่งเมื่อเช้านี้ก็ได้ ISO ของ Ubuntu 5.04 Live สำหรับ PowerPC มาเป็นที่เรียบร้อย และหลังจากเขียนลงแผ่น แล้วก็ restart เครื่อง Powerbook โดยกดปุ่มตัว C ค้างไว้ เพื่อให้บูตจากซีดี ก็จะบูตเข้าไปยัง Ubuntu เป็นที่เรียบร้อย เริ่มต้นต้องกำหนดค่าต่างๆ ของเครื่องก่อน จากนั้นก็จะเข้าสู่ Gnome ให้โดยอัตโนมัติ หน้าตาเหมือน Ubuntu ที่ใช้อยู่บนพีซีอย่างกับแกะ เจ๋งจริงๆ พวกฮาร์ดแวร์ต่างๆ ก็ทำงานได้เรียบร้อย ทั้ง touchpad และเมาส์ ที่ต่อเข้าไปเพิ่มก็ใช้งานได้ดี ขาดอย่างเดียวคือการต่อกับจอภาพภายนอก ซึ่งคิดว่าอาจจะต้องกำหนดค่าต่างๆ เอง สุดท้ายก็เลยลองเปิด Firefox ขึ้นมาดูเล่น ก็ใช้งานได้ดี ส่วนในแง่ความเร็ว ก็ไม่เร็วมากนัก เนื่องจากทำงานจากซีดี คิดว่าถ้าติดตั้งลงฮาร์ดดิสก์ คงจะเร็วกว่านี้เยอะ ทำให้เกิดความขยันขึ้นเล็กน้อย ที่จะลง OS X ใหม่ เพื่อให้ลง Linux ได้ด้วย
ดิสตริบิวชันแบบ Live นี่ก็จัดว่าเป็นวิธีการแก้ปัญหาคนที่ไม่อยากจะเปลี่ยนมาใช้ Linux ได้ดีเหมือนกันนะ เพราะสามารถทดลองอะไรได้ก่อนที่จะตัดสินใจเปลี่ยนจริงๆ ทำให้ไม่จำเป็นต้องตัดสินใจประมาณว่าจะขอไปตายกับดาบหน้า แล้วก็ทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีกับ Linux เนื่องจากความไม่สมบูรณ์ หรือการไม่สนับสนุนฮาร์ดแวร์บางส่วน
No comments:
Post a Comment