07 January 2013

สอนหนังสือด้วยเครื่องมือแบบต่างๆ

หลังจากสอนหนังสือมาหลายปี ผมพยายามปรับเปลี่ยนวิธีการสอน และเทคโนโลยีที่นำมาช่วยใช้สอนอยู่เสมอ ตามประสาคนบ้าลองเทคโนโลยี วันนี้เลยขอเอามาเล่าไว้บ้าง เผื่อจะเป็นประโยชน์ต่อบุคคลอื่นที่ประกอบอาชีพคล้ายกัน

MS PowerPoint/Apple Keynote

เครื่องมือแรกๆ ทีผมเริ่มใช้หลังจากสอนหนังสือ ก็คือ สไลด์ที่สร้างจากเครื่องมือชื่อดังต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น PowerPoint หรือ Keynote โดยผมจะพิมพ์สไลด์ออกมาเป็นเอกสารประกอบการสอน ให้กับนักศึกษา ข้อดีที่ผมพบจากการเตรียมสไลด์ประกอบการสอน ก็คือ สามารถควบคุมเนื้อหาที่จะสอนแก่นักศึกษาได้ง่าย แค่อธิบายและพูดตามเนื้อหาที่เตรียมไปเรื่อยๆ ถ้าต้องการอธิบายอะไรเพิ่มเติมก็สามารถเขียนลงบนกระดานประกอบการอธิบายได้ 

แต่ข้อดีเหล่านี้ ก็อาจจะกลายเป็นข้อเสียในด้านการเรียน และการทำความเข้าใจของนักศึกษาได้เช่นกัน ซึ่งผมจะขอกล่าวถึงในภายหลัง แต่ประเด็นที่ทำให้ผมเปลี่ยนไปใช้เครื่องมืออื่นเพื่อเตรียมสไลด์ คือ ความยุ่งยากในการเตรียมเนื้อหา เนื่องจากผมสอนวิชาทางด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้สไลด์ของผม ประกอบด้วย สมการ และโปรแกรมต่างๆ ที่เป็นตัวอย่าง การแทรกสมการหรือโปรแกรมลงไปในสไลด์ค่อนข้างยุ่งยาก ต้องเลือกเมนูหลายๆ อัน และเสียเวลาในการปรับแต่งอีก แถมถ้าจะแก้ไขก็อาจจะต้องใช้วิธีลบออก แล้วเริ่มใหม่ตั้งแต่ต้น ทำให้ผมรำคาญใจได้เสมอๆ

LaTeX Beamer/foiltex

ผมพยายามลดความยุ่งยากด้วยการใช้ LaTeX ในการเตรียมสไลด์ประกอบการสอน การใช้ LaTeX ทำให้สามารถแทรกสมการลงในสไลด์ได้อย่างสะดวก เช่นเดียวกับโปรแกรม ซึ่งผมใช้ fancyvrb และ minted สำหรับแทรกโปรแกรม สามารถดึงโปรแกรมจากไฟล์มาได้โดยตรง ถ้ามีปัญหาอะไรก็แค่แก้ไขโปรแกรมแล้วคอมไพล์ LaTeX ใหม่ ก็เรียบร้อย การเตรียมสไลด์ทำได้สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น แถมต้นฉบับก็นำไปใช้บนระบบไหนก็ได้ ไม่มีปัญหา

Partial Note และ Visualizer

ปัญหาที่ผมพบเสมอที่ใช้สไลด์ในการสอน เกิดจากสิ่งที่ต้องแรกผมเห็นว่าเป็นข้อดี การที่สไลด์มีเนื้อหาที่จะเรียนครบถ้วนทั้งหมด ทำให้ควบคุมการบรรยายได้ง่าย เนื้อหาบางส่วนสามารถพูดอธิบายไปได้อย่างรวดเร็ว ทำให้นักศึกษาละความสนใจจากเนื้อหาได้ง่าย เพราะเห็นว่ามีเนื้อหาครบอยู่แล้ว อ่านทีหลังก็ได้ ไม่เป็นไร บางครั้งการนั่งฟังบรรยายเฉยๆ ในเวลาบ่าย ก็ทำให้เกิดความง่วงได้ง่ายๆ ความสนใจในสิ่งที่ผมบรรยายจึงน้อยลงมากๆ บางครั้งมีนักศึกษาไม่กี่คนในห้องที่พยายามตั้งใจฟัง ส่วนใหญ่หันไปสนใจสิ่งอื่นๆ รวมทั้งการหลับ แม้ว่าผมจะพยายามเขียนอธิบายเพิ่มเติมบนกระดาน แต่ก็ไม่ได้ผลมากนัก บางครั้งขนาดและตำแหน่งของกระดานก็ไม่เหมาะสมกับห้องเรียนขนาดใหญ่
หลังจากได้พูดคุยกับ @cutiening ก็ได้รับคำแนะนำและความเห็นที่น่าสนใจมากๆ เกี่ยวกับวิธีการสอน แนวคิดที่ว่าคือ การเขียนหรือจดบันทึกในสิ่งที่กำลังเรียนรู้ ทำให้นักศึกษาเกิดความเข้าใจได้มากกว่า มีการศึกษาว่าการเขียนทำให้เกิดการบันทึกลงในสมอง การทำแบบฝึกหัดก็มีส่วนสำคัญในการทำความเข้าใจในสิ่งที่การเรียนรู้ แต่การจดบันทึกที่วุ่นวายและมากเกินจำเป็น ก็อาจจะทำให้เนื้อหาที่สอนเดินไปได้ช้า
@cutiening จึงเสนอเทคนิคที่เรียกว่า partial note สำหรับทำเอกสารประกอบการสอน (แนวคิดนี้กลายเป็นบทความวิจัยเรียบร้อยแล้ว) คือ เอกสารมีเนื้อหาเกือบทั้งหมด แต่เว้นเนื้อที่ไว้ให้นักศึกษาเขียนเพิ่มเติม มีเนื้อที่สำหรับทำแบบฝึกหัด พร้อมทั้งมีแบบฝึกหัดที่หลากหลาย เริ่มจากระดับง่ายไปยาก ทำให้เพิ่มความสนใจและความเข้าใจในเนื้อหาได้อย่างดี
ผมเห็นว่าแนวคิดของ partial note น่าสนใจมากๆ ก็ลองออกแบบเอกสารประกอบการสอนใหม่ ตามแนวคิดนั้น ยังใช้ LaTeX เป็นเครื่องมือเหมือนเดิม เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบไป จากสไลด์ที่มีเนื้อที่จำกัด ไปเป็นเอกสารปกติ มีเนื้อหาให้นักศึกษาสำหรับจดบันทึกเพิ่มขึ้น เวลาบรรยายก็ใช้ร่วมกับ Visualizer ซึ่งฉายภาพเอกสาร หาปากกาหลายๆ สีมาใช้เขียนลงบน partial note ไปจนถึงใช้ปากกาแบบลบได้เพื่อให้เกิดความสะดวกในการแก้ไข การฉายภาพผ่าน projector ทำให้นักศึกษามองเห็นและจดตามได้อย่างชัดเจนมากกว่าการใช้กระดาน
บางครั้งก็ใช้ร่วมกับคอมพิวเตอร์ เมื่อสอนวิชาเขียนโปรแกรม เพื่อจะแสดงตัวอย่างให้นักศึกษาดูการทำงานได้ทันที การสอนแบบนี้ได้ผลตอบรับจากนักศึกษาที่ดี ก็เลยคิดจากสอนแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ

Partial Note กับ Tablet

หลังจากลองใช้ partial note มาจนติดใจ ก็เริ่มเพิ่มความสะดวกสบายในการสอน ด้วยการนำ tablet มาใช้ในการเขียนเนื้อหาลงใน partial note แทนที่จะเขียนลงกระดาษ เพราะสะดวกทั้งการเตรียมการ และการจัดการข้อมูลที่เกิดขึ้นภายหลัง ผมเริ่มจากใช้ iPad กับ stylus ซึ่งจะไม่ค่อยสะดวกเพราะไม่สามารถวางมือลงบนหน้าจอได้โดยตรง ต้องใช้กรรมวิธีต่างๆ ช่วย จนปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้ Sony Vaio Duo 11 ที่สะดวกมากขึ้น เครื่องมาพร้อมกับ stylus และทำให้สามารถวางมือลงไปบนจอได้เลย (เอาไว้ค่อยเล่าถึงเรื่องนี้ให้ละเอียดทีหลัง) จุดเด่นหลักๆ ของการใช้ tablet ก็คือ เอกสารที่สอนแล้วทั้งหมดสามารถเก็บไว้เป็น PDF ได้เลย สามารถนำไปปรับปรุงเอกสารได้ในปีต่อไป และยังสวยงามอีกต่างหาก


วันนี้เอาไว้แค่นี้ก่อนละกัน เอาไว้ค่อยมาเล่าต่อ

2 comments:

Kobkrit said...

โอ้ววว เท่าที่ผมลองจินตรานาการดู ผมว่า Partial Note ดีกว่า Slide มากเลยนะ เอกสารประกอบคำบรรยายเป็น A4 เลยใช่ไหมครับอาจารย์

Ammii said...

ตอนนี้มีเปลี่ยนแบบไหนต่ออีกมั้ยคะ อ่านแล้วสนุกดีค่ะอาจารย์ ^^